จีนศึกษา ๓๕๖ มหานครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับกระบวนการปฏิรูปและการเปิดประเทศ ในการพัฒนาพื้นที่ผู่ตงเมื่อ ๓๒ ปีก่อน จนทำให้กลายเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนความเจริญของมหานครเซี่ยงไฮ้ในปัจจุบัน กล่าวคือ
มหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีสภาพเป็นเมืองที่แยกเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก ตามความคดเคี้ยวของสองฝั่งแม่น้ำหวงผู่ โดยเรียกฝั่งตะวันตกของแม่น้ำหวงผู่ว่า ผู่ซี (ผู่ตะวันตก) และผู่ตง (ผู่ตะวันออก) ซึ่งมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในสภาพความเจริญทำให้ชาวเมืองผู่ตงที่อยู่บนฝั่งผู่ตงได้แต่มองเห็นความเจริญของฝั่งผู่ซี ที่มีประวัติการพัฒนายาวนาน ยามค่ำคืนแสงไฟสว่างไสว รถราบนถนนคึกคัก ตรงกันข้ามกับฝั่งผู่ตงที่ยามค่ำมีเพียงความมืด เส้นทางถนนเต็มไปด้วยดินโคลน โดยในเวลานั้นหากมองจากเดอะบันด์ บนฝั่งผู่ซี จะเห็นผู่ตงเป็นทุ่งเวิ้งว้างและรกร้าง สลับกับมีกลุ่มบ้านเรือนเตี้ย ๆ อีกทั้งมีเพียงเรือข้ามฟากเชื่อมโยงไปมาสองฝั่งเท่านั้น แต่ทุกสิ่งเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๘ เม.ย.๓๓ เมื่อผู่ตงได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปและการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่องของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีจีนได้ตัดสินใจที่จะพัฒนาพื้นที่ผู่ตงเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” และตั้งชื่อว่า “เขตผู่ตงใหม่“
สำหรับขั้นตอนในการพัฒนาพื้นที่ผู่ตง เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ ๓ พ.ค.๓๓ ได้แก่
๑. การผลิกฟื้นพื้นที่การพัฒนา ด้วยการตั้งสำนักงานพัฒนา โดยได้ใช้โกดังสินค้าร้าง นำมาปรับปรุงเป็นสำนักงานพัฒนาเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ และสถาบันวิจัยและการออกแบบการวางแผนพัฒนาผู่ตง เซี่ยงไฮ้ ได้ออกแบบอาคารสำนักงาน เป็นอาคารแบบสองชั้น ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑๔๑ บนถนนผู่ตง สำหรับอาคารชั้นแรกซึ่งเคยเป็นคลังสินค้าได้ปรับปรุงกลายเป็นล็อบบี้และห้องประชุม ในขณะที่สำนักงานจะอยู่บนชั้นสอง ซึ่งมีโต๊ะทำงานเพียง ๔ โต๊ะ และเก้าอี้ ๔ ตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีโต๊ะทำงานส่วนตัว ต้องแบ่งกันใช้ร่วมกัน และแต่ละคนก็มีลิ้นชักเพียงหนึ่งช่องเท่านั้น
๒. การปรับปรุงถนนดินโคลน กระท่อมและโครงสร้างที่ผิดกฎหมาย โดยการรื้อสร้างใหม่ เพื่อกำหนดพื้นที่เป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าเสรี (Lujiazui Financial and Trade Zone) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงช่วงข้ามคืน โดยมีตึกระฟ้ามากมายผุดขึ้น เส้นทางดินโคลนถูกเปลี่ยนไปเป็นถนนแห่งความรุ่งเรือง (Silver City Middle Road)
ทั้งนี้ การพัฒนาผู่ตง โดยแบ่งออกเป็น ๓ ช่วงเวลา ซึ่งแต่ช่วงละมีระยะเวลา ๑๐ ปี
ช่วงแรก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๔๔ เป็นช่วงการพัฒนาที่รวดเร็ว โดยมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก และมีนโยบายพิเศษจากรัฐบาลกลาง
ช่วงที่สอง ระหว่างปีพ.ศ.๒๕๔๔ ถึง พ.ศ.๒๕๕๕ คือขั้นตอนการปฏิรูปที่ครอบคลุมนำร่องในการสร้างและปรับปรุงระบบเศรษฐกิจการตลาดเชิงสังคมนิยมให้สอดคล้องกับแนวทางสากล
ช่วงที่สาม ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๕ และยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน คือขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีชั้นนำของประเทศจีน (FTZ) ซึ่งจะช่วยยกระดับนวัตกรรมขั้นสูงและการพัฒนาในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ผู่ตงนี้ เปรียบเหมือนกับความฝัน ในขณะที่คนรุ่นปู่มองเห็นเป็นพื้นที่สงคราม ส่วนคนรุ่นพ่อมองเห็นเป็นพื้นที่การบุกเบิก แต่สำหรับคนรุ่นนี้ได้มองเห็นเป็นพื้นที่ของความมั่งคั่ง สมดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่ออิ่มท้องย่อมได้เวลาสร้างความอุดมในทุกด้าน” โดยเฉพาะความสำเร็จในการพัฒนาบทบาทของการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.fsmitha.com/h2/ch32prc.html และเว็บไซต์https://ageconsearch.umn.edu/bitstream/90620/2/WP%2051.pdf )