จีนศึกษา ๓๔๓ ท่าทีสี จิ้นผิง ต่อความสัมพันธ์จีน-ยุโรป
ท่าทีของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน–ยุโรป โดยเน้นถึงการยึดหลัก ๔ ประการในการพัฒนาความสัมพันธ์ กล่าวคือ
ประการแรก ต้องยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีระบบการเมืองที่เหมือนกันหมดทุกอย่างในโลก การดำรงอยู่ของอารยธรรมและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายเป็นสิ่งที่เป็นปกติ เมื่อพลังแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างจีน–ยุโรปแข็งแกร่งยิ่งขึ้น สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลกก็มีหลักประกันมากขึ้นตามไปด้วย
ประการที่ ๒ ต้องยึดหลักการเปิดสู่ภายนอกและความร่วมมือ โดยจีนกำลังทุ่มเทกำลังในการสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ที่มีการหมุนเวียนภายในประเทศเป็นหลักพร้อมให้การหมุนเวียนในประเทศและการหมุนเวียนกับต่างประเทศส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน จีนจะแสวงหาศักยภาพแห่งความต้องการภายในอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ตลาดและทรัพยากรจีน–ยุโรปเชื่อมต่อและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกันระหว่างจีน–ยุโรปให้มีความแข็งแกร่งและต่อเนื่องยิ่งขึ้น
ประการที่ ๓ ยึดหลักความเป็นพหุภาคี โดยจีนยินดีเสริมสร้างการเจรจาและประสานกันกับยุโรปทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระดับโลก โดยยึดแนวทางการบริหารโลกที่ร่วมกันปรึกษาหารือ ร่วมสร้าง และแบ่งปันประโยชน์แก่กัน รักษาระเบียบและระบบระหว่างประเทศที่มีสหประชาชาติเป็นแกนนำ ผลักดันการสร้างประชาคมมนุษย์ที่มีอนาคตร่วมกัน
ประการที่ ๔ ยืนหยัดดำเนินการเจรจาและปรึกษาหารือกัน ซึ่งจีน–ยุโรปจะต้องเป็นไปตามกระแสหลักแห่งการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน–ยุโรป ขจัดความเข้าใจผิดด้วยการเจรจา แก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ด้วยการพัฒนาและจัดการความขัดแย้งด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับจุดยืนของจีนต่อแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างจีน–ยุโรป ว่า
๑. จีน–ยุโรปเป็นหุ้นส่วนสำคัญด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งควรเสริมสร้างการประสานงานด้านนโยบายมหภาค มีมาตรการและกระตุ้นโอกาสแห่งความร่วมมือมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม “ข้อตกลงว่าด้วยสัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์จีน–ยุโรป” รวมทั้งต้องยึดมั่นในท่าทีที่แข็งขันและแสวงหาผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เร่งการเจรจาข้อตกลงการลงทุนระหว่างจีน–ยุโรป ให้บรรลุเป้าหมายการเจรจาก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อผลักดันการยกระดับคุณภาพความร่วมมือ สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกภายหลังการระบาดของโควิด–๑๙ อีกทั้งร่วมกันปกป้องบรรยากาศทางการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างทั้งนี้ ตลาดจีนจะเปิดกว้างสู่ยุโรปต่อไป โดยจีนยินดีต้อนรับผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพดีและปลอดภัยจากสหภาพยุโรปเข้าสู่ตลาดจีนมากยิ่งขึ้น
๒. ต้องสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือสีเขียวระหว่างจีน–ยุโรป เข้าร่วมรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศโลกอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งเข้าร่วมการปกป้องกระบวนการพหุภาคีว่าด้วยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกอย่างสร้างสรรค์สนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อให้การประชุมกลาสโกว์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ซึ่งมียุโรปเป็นเจ้าภาพในปีหน้า และการประชุมภาคีสมาชิก“สนธิสัญญาว่าด้วยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต” ของสหประชาชาติ ครั้งที่ ๑๕ ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองคุนหมิงของจีนในปีหน้า ต่างประสบผลสำเร็จ สร้างคุณูปการต่อการผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๓. การสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างจีน–ยุโรป โดยจีนเสนอ “ข้อริเริ่มว่าด้วยความปลอดภัยด้านข้อมูลของโลก” พร้อมกับหวังว่า ยุโรปจะร่วมกับฝ่ายจีนผลักดันการกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบด้านดิจิทัลของโลก พร้อมกับส่งเสริมการบริหารจัดการเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกให้พัฒนาไปด้วยดี นอกจากนี้ ต้องแก้ไขข้อห่วงใยที่สมเหตุสมผลของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเหมาะสม โดยจีนให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดต่อแนวโน้มการพัฒนาของยุโรปในหลายด้าน เช่น 5G การตรวจสอบทุนต่างชาติการจัดซื้อภาครัฐ และนโยบายเกี่ยวกับการแข่งขัน เป็นต้น โดยหวังว่าฝ่ายยุโรปจะเปิดกว้างตลาดการค้าและการลงทุนต่อไป ด้วยบรรยากาศทางธุรกิจที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของวิสาหกิจจีน
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_9178228 และเว็บไซต์ http://www.chinanews.com/gn/2020/09-15/9291355.shtml รวมทั้งเว็บไซต์ https://www.yicai.com/news/100770207.html และเว็บไซต์https://www.dzwww.com/xinwen/guojixinwen/202009/t20200915_19785758.htm ตลอดจนเว็บไซต์ https://news.dayoo.com/china/202009/16/139997_53567160.htm และเว็บไซต์https://china.chinadaily.com.cn/a/202009/15/WS5f6097f7a3101e7ce9724929.html )