จีนศึกษา๙๗ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ๖ ประเทศ คือ ไทย เมียนมาร์ สปป.ลาวกัมพูชา เวียดนาม และจีน (เฉพาะมณฑลยูนานและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และได้ตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาในอนุภูมิภาคให้เกิดการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ เพื่อให้เกิดจ้างงาน ยกระดับการครองชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก โดยผ่านยุทธศาสตร์หลัก ๓ ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน (Connectivity) เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยการรวมกลุ่มกันในอนุภูมิภาค (Community)
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕ ได้ถือเป็นสัปดาห์แม่น้ำล้านช้าง–แม่น้ำโขง ประจำปี ๒๐๒๒ เนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ได้มีการจัดการประชุมผู้นำว่าด้วยความร่วมมือในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง–แม่น้ำโขงครั้งแรกขึ้นที่เมืองซานย่า มณฑลไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนับเป็นการริเริ่มกลไกความร่วมมือแบบใหม่ในอนุภูมิภาคอย่างเป็นทางการ และพบว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๔ ที่ผ่านมานี้ ประเทศจีนได้มีมูลค่าการค้ากับ ๕ประเทศในปลายทางแม่น้ำโขงมากถึง ๔ แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้น ๒๓% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.๒๕๖๓ รวมทั้งได้สร้างคุณูปการแก่การส่งเสริมประเทศต่าง ๆ ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๒ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย เคยเน้นย้ำถึงปัจจัยของความสำเร็จในอนาคตซึ่งขึ้นอยู่กับการทำงานอย่างร่วมมือร่วมใจกันบนพื้นฐานของหลักการ 3M อันได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Mutual Trust) การเคารพซึ่งกันและกัน(Mutual Respect) และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) โดยได้นำเสนอแนวปฏิบัติของไทยในการดำเนินนโยบายด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม การขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาค การสร้างสมดุลการใช้น้ำตามหลักการสากล และการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรม ตลอดจนมุ่งหวังที่จะสร้างความเข้มแข็งในประชาคมอนุภูมิภาค ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.lmcchina.org/2022-03/24/content_41916010.htm )