จีนศึกษา ๓๔๕ จีนลดคนยากจนลง ๘๕๐ ล้านคน
ข้อคิดเพื่อการประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชน ดังกรณีของจีนซึ่งในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมา จนถึงปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) จีนได้ลดจำนวนคนที่มีความยากจนลง ๘๕๐ ล้านคน และมีส่วนช่วยลดความยากจนทั่วโลกมากกว่า ๗๐% เนื่องจากประชากรของจีนที่มีความยากจนในชนบท ได้ลดลงจาก ๙๘.๙๙ ล้านคน ในปี ๒๐๑๒(พ.ศ.๒๕๕๕) เหลือเพียง ๕.๕๑ ล้านคน ในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) นั่นคือสามารถลดคนยากจนได้ปีละกว่า ๑๐ ล้านคน ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวนี้เป็นเอกลักษณ์ในประวัติศาสตร์การลดความยากจนของมนุษย์
โดยเฉพาะกรณีศึกษาในการขจัดความยากจนของหมู่บ้านเจี่ยวมู่หนิว (角木牛村) อำเภอจินชวน (金川县) มณฑลซื่อชวน หรือ เสฉวน (四川省) ซึ่งก่อนหลุดพ้นจากความยากจนเมื่อปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) หมู่บ้านแห่งนี้เคยมีครอบครัวชาวนายากจน ที่ขึ้นทะเบียนจำนวน ๘๔ ครอบครัว ๓๐๔ คน ถือเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรผู้ยากจนมากที่สุดในอำเภอจินชวน และหลายปีมานี้ ภายใต้ความช่วยเหลือของทางการท้องถิ่น เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจนในรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของตนเองหรือ “หนึ่งกลุ่มหนึ่งอุตสาหกรรม” (“一组一产业”) เช่น การปลูกสตรอว์เบอร์รี่เพื่อขจัดความยากจนอย่างตรงจุดในท้องถิ่น โดยในปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) หมู่บ้านเจี่ยวมู่หนิวได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม รวมทั้งการดึงบริษัทมืออาชีพและสหกรณ์ เข้ามาช่วยในการพัฒนาธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์โดยใช้รูปแบบการโอนสิทธิการใช้ที่ดินและหุ้นปันผล ภายใต้ความพยายามร่วมกันของทีมงานประจำหมู่บ้านและข้าราชการหมู่บ้านซึ่งปัจจุบัน สตรอว์เบอร์รี่กลายเป็นผลไม้สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน จากผลสตรอว์เบอร์รี่สดที่ถูกเก็บแล้ว ได้ถูกนำไปจัดจำหน่ายยังตลาดผลไม้สดและวิสาหกิจแปรรูปในเมืองเฉิงตูและกรุงปักกิ่ง จนได้รับความนิยมในตลาดขายปลีก เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการประการต่าง ๆ เพื่อช่วยพื้นที่ห่างไกลหลุดพ้นจากความยากจน ดังกรณีตัวอย่างของหมู่บ้านเจียวมู่หนิว ในอำเภอจินชวน มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) ที่ได้เดินตามหนทางแห่งการพัฒนาที่ดีในการสร้างชนบทใหม่ด้วยการวางแผน“หนึ่งกลุ่มหนึ่งอุตสาหกรรม” จนได้ประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติตามนโยบายการขจัดความยากจนของประเทศ ฯลฯ โดยเฉพาะการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาความยากจน ได้แก่ (๑) การเสริมสร้างการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (๒) การสร้างฐานการบรรเทาความยากจนสำหรับอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ (๓) การสำรวจการประกันภัยเพื่อบรรเทาความยากจน และ (๔) การจัดการศึกษาเพื่อบรรเทาความยากจน เป็นต้น
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.sohu.com/a/337015660_115960 รวมทั้งเว็บไซต์ https://www.sohu.com/a/337179101_100152389 และเว็บไซต์https://cn.chinadaily.com.cn/a/202007/28/WS5f1fefa4a310a859d09da9a8.html )