จีนศึกษา๑๐๗ การผลิตเรือดำน้ำ
Sakshi Tiwari ได้เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับจุดเปลี่ยนในเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซลใต้น้ำของจีน และการเริ่มต้นใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเรือดำน้ำของจีน ไว้อย่างน่าสนใจในEurAsian Times ว่า สืบเนื่องจากเมื่อปีที่แล้ว สำนักข่าวของเยอรมนี 2 แห่ง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ARD และหนังสือพิมพ์ Welt am Sonntag ได้เผยแพร่ผลการสอบสวนที่อ้างว่าเรือรบจีนหลายประเภทใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตในเยอรมนี MTU และ MAN สาขาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Volkswagen และกำลังจัดหาเครื่องยนต์ให้กับจีน
จึงได้ทำให้การประกอบเรือดำน้ำของจีนต้องชะงักลง จากการที่สหภาพยุโรปได้มีข้อกำหนดห้ามค้าอาวุธกับจีนตั้งแต่เมื่อปี 1989 (พ.ศ.2532) ภายหลังการณ์ทางการเมืองที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดดังกล่าว แต่กองทัพจีนก็สามารถรับยุทโธปกรณ์จากประเทศต่างๆ ในยุโรปได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะพิจารณาตัดสินใจว่าควรดำเนินการคว่ำบาตรอย่างไร และการตีความของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันในแง่ของนโยบายและการปฏิบัติ
แม้จะมีการห้ามขนส่งอาวุธของสหภาพยุโรป แต่ MTU ก็จัดหาเครื่องยนต์ให้กับจีนมากกว่า100 เครื่องสำหรับเรือพิฆาตและเรือดำน้ำระหว่างปี 1993 – 2020 (พ.ศ.2536 – 2563) ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ซึ่งติดตามการถ่ายโอนอาวุธไปทั่วโลก
โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า จีนขาดความเชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์หรือไม่ เพราะในขณะที่จีนได้ทำการพัฒนาการผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินขับไล่ เช่น J-20 และอุโมงค์ลมสำหรับเทคโนโลยีที่มีความเร็วเหนือเสียง แต่ก็ล้าหลังอย่างมากในด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนของเรือดำน้ำ ดังนั้น วิศวกรรมขับเคลื่อนจึงเป็นหนึ่งในข้อบกพร่องเชิงโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมการทหารของจีน เนื่องจากเครื่องยนต์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในเรือดำน้ำของจีนเป็นเครื่องยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น เรือดำน้ำชั้น Song และ Yuan ใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ดีเซล MTU 396 SE84 series ที่ผลิตในเยอรมนี
ดังนั้น จึงน่าสนใจต่อความเคลื่อนไหวในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวของจีน ซึ่งมีกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีเรือรบประมาณ 355 ลำ
สรุปโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://eurasiantimes.com/worlds-biggest-naval-power-china-struggles-with-submarine-tech/?amp )