รองอธิบดี ควง ผู้ตรวจ พช. เยือน “มหานครแห่งโคก หนอง นา” อุบลราชธานี พาชมความสำเร็จที่ สำโรง และ ตระการพืชผล
วันที่ 18 เมษายน 2565 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงาน
โดยในเวลา 08.30 น. นายนิวัติ น้อยผาง พร้อมด้วย นายสรสาสน์ สีเพ็ง ได้พบปะให้กำลังใจและรับฟังการสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จากพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้อำนวยการกลุ่มงาน และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ในภาพรวมของจังหวัดฯ ทั้งแปลงศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) และแปลงพื้นที่ต้นแบบระดับครัวเรือน (Household Lab Model for quality of Life : HLM) ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางรัฐบาล (งบเงินกู้) มากที่สุดในประเทศไทย ถึง 4,044 แปลงจนได้รับฉายาว่า “มหานครแห่งโคก หนอง นา“
จากนั้นในเวลา 09.30 น. รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อม พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานีและคณะได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แปลงศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) ของนายประชัน คุ้มหินลาดบ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 12 ตำบลสำโรง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายปรีดา อุ่นอุดม นายอำเภอสำโรง นางศิรินุช สูงสุด พัฒนาการอำเภอสำโรง หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) และเครือข่าย “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงาน
โอกาสนี้ นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวกับผู้ที่มาร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงาน ว่า
“ผมดีใจมากที่ได้กลับมาเยือนถิ่นอำเภอสำโรงอีกครั้ง ซึ่งตนเคยเป็นนายอำเภอสำโรง อยู่ประมาณ 6 เดือน ซึ่งการมาในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ทั้งแปลงศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (CLM) เเละแปลงระดับครัวเรือน (HLM) ที่ได้ดำเนินการนั้น มีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นต้นแบบในการเปลี่ยนแนวคิดในการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการส่งเสริมการเรียนรู้ เเละการมีส่วนร่วมโดยใช้ศาสตร์พระราชา ควบคู่ไปกับ หลักกสิกรรมธรรมชาติ และประสบการณ์ที่เราลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันเเละกัน ทำให้เกิดองค์ความรู้ เกิดปัญญาในการใช้ชีวิตเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายของโครงการ ก็คือการสร้างความเพียงพอให้ตนเองก่อน เเล้วขยายไปภายนอก มีการแบ่งปัน มีการทำบุญ ทำทาน”
รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “การดำเนินโครงการ เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐก็คือกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการ ร่วมกับประชาชนในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยการทำให้ดูอยู่ให้เห็น ให้คนสนใจ เเล้วเป็นครูพาทำ พาผลิต มีมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย หรือ Earth Safe Standard ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ บนพื้นฐานการเกื้อกูลซึ่งกันเเละกัน สร้างความเชื่อมั่น สร้างเเรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนร่วมกัน สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการนี้ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีเเละอยู่อย่างมีความสุข“
ต่อมาในเวลา 11.00 น. นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางต่อไปยังแปลงโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่“โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่ตำบลโนนกุง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี อีก 4 แปลง โดยมี นายพงษ์ธร จันทร์สวัสดิ์ นายอำเภอตระการพืชผล นางคำประไพ รักษาขันธ์พัฒนาการอำเภอตระการพืชผล หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ผู้บริหารองค์การส่วนปกครองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน และเจ้าของแปลง ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงาน
สำหรับอำเภอตระการพืชผล มีครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” (งบเงินกู้) จำนวน1,045 ครัวเรือน แยกเป็นแปลงศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (CLM) พื้นที่ 15 ไร่ จำนวน 13 แปลง และพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน (HLM) พื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 546 แปลง และพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ครัวเรือน (HLM) พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน486 แปลง รวมทั้งสิ้น 1,045 แปลง
ภายหลังจากการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ได้มีการประเมินผลการดำเนินงานของอำเภอตระการพืชผล โดยจัดอยู่ในระดับ A จำนวน 39 แปลง, ระดับ B จำนวน 992 แปลง และระดับ C จำนวน 14 แปลง โดยตัวชี้วัดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มากที่สุด คือหนองหรือบ่อไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี ซึ่งอำเภอตระการพืชผลได้กำหนดให้มีการจัดประชุมเหลียวหลังแลหน้าครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อวางแผนขับเคลื่อนปรับปรุงในตัวชี้วัดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ต่อไป
ในส่วนของการตรวจเยี่ยมโครงการ ในพื้นที่ตำบลโนนกุง อำเภอตระการพืชผล ของรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะ ในครั้งนี้นั้น ได้เยี่ยมชมความสำเร็จในการดำเนินงาน ณ แปลงศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (CLM) พื้นที่ 15 ไร่ ของนายแก้วกล้า บัวศรี และแปลงนางคำผ่อน อ่อนท้าว บ้านโคกสว่าง หมู่ที่ 2 ต่อด้วย แปลงระดับครัวเรือน (HLM) ของนายสุพรรณ วิชัยแสง บ้านร่องหมู หมู่ที่ 7 และแปลงนางดวงฤดี หลงชิน บ้านน้ำคำ หมู่ที่ 4 พื้นที่เข้าร่วมโครงการ 1 ไร่ ซึ่งเป็นครัวเรือน ที่พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการลงมือบริหารจัดการพื้นที่นาของตนเอง ตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นาโมเดล” และสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2,500-3,000 บาท ซึ่งแปลงเหล่านี้ ถือเป็นครัวเรือนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการ ให้ครัวเรือนอื่นได้ศึกษาและเป็นแบบอย่างต่อไป
นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในแปลง CLM และ HLM ของตำบลโนนกุง ครั้งนี้ ยังได้เดินเยี่ยมชมแปลงพืชผักสวนครัว พร้อมเก็บผลผลิตพืชผักสวนครัว และการเรียนรู้การปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้ การดำเนินทุกกิจกรรมได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด
กมลพร คำนึง
สุมาลี สมเสนาะ–ข่าว