จีนศึกษา๑๗๙ ฮ่องกงกลับคืนสู่จีน
ข้อคิดจากการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ตรวจพลสวนสนามทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนที่ประจำฮ่องกง เมื่อวันที่ ๓๐ มิ.ย.๖๐ อันสืบเนื่องมาจากการที่อังกฤษยินยอมส่งมอบฮ่องกงคืนกลับสู่การปกครองของจีนเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคมค.ศ.๑๙๙๗ (พ.ศ.๒๕๔๐) ภายใต้รูปแบบการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่รับประกันว่า ชาวฮ่องกงจะได้รับเสรีภาพและอิสระแห่งตุลาการแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในจีนแผ่นดินใหญ่
ประวัติความเป็นมาของฮ่องกงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เขตบริหารพิเศษฮ่องกง” (Hong Kong SAR) มาจากชื่อเต็มว่า Hong Kong Special Administrative Region of the People’s Republic of China ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีนอยู่ติดกับมณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) โดยฮ่องกงมีบริเวณพื้นที่รวม๑,๐๙๖.๖๓ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย เกาะฮ่องกง (๘๐.๓๐ ตร.กม.) เกาลูน (๔๖.๗๑ ตร.กม.) เขตดินแดนใหม่(New Territories) และเกาะอื่น ๆ(๙๖๙.๖๒ ตร.กม.) พื้นที่ทั้งหมดของฮ่องกงเทียบได้ประมาณ ๑ ใน ๖ ของพื้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และมีประชากรประมาณ ๖ ล้านคน
เดิมฮ่องกงเป็นเพียงหมู่บ้านประมงเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอซินอันเมืองเซินเจิ้น แต่หลังจากจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น เกาะฮ่องกงจึงถูกครอบครองโดยอังกฤษในปีค.ศ.๑๘๔๒ (พ.ศ.๒๓๘๕) ต่อมาภายหลัง ในปี ค.ศ.๑๘๙๘ (พ.ศ.๒๔๔๑) อังกฤษได้ทำสัญญา “เช่าซื้อ” พื้นที่ทางตอนใต้ของลำน้ำเซินเจิ้น ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “เขตดินแดนใหม่” (New Territory ) รวมทั้งเกาะรอบข้างซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่กว่าเมื่อครั้งอังกฤษเข้ายึดครองในสมัยสงครามฝิ่นเกือบสิบเท่า
ความสำคัญของฮ่องกง
๑. ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางพาณิชย์นานาชาติ นับตั้งแต่สมัยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในยุคแรกๆ และช่วงการเปลี่ยนแปลงในต้นศตวรรษที่ ๒๐ประชากรของฮ่องกงได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากผู้ลี้ภัยซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน และการย้ายถิ่นของผู้อพยพจำนวนมากนี้เองที่ช่วยผลักดันให้ฮ่องกงได้มีบทบาทใหม่ในฐานะศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ ช่วงหลายสิบปีมานี้ เศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ กำลังขยายตัว ฮ่องกงจึงต้องปรับตัวอีกครั้ง โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเน้นที่การบริการเป็นหลักและเป็นเส้นทางสำคัญสู่ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
๒. ฮ่องกงกลับคืนสู่ประเทศจีน อันเป็นผลมาจากข้อตกลงที่เขียนขึ้นในปีค.ศ.๑๘๙๘ ที่กล่าวว่า “จักรวรรดิอังกฤษจะคืนกลับฮ่องกงให้กับเจ้าของเดิมใน ๙๙ ปีนับจากนี้“ (ซึ่งช่วงที่ครบกำหนด ๙๙ ปี นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น คือ นางมาร์กาเร็ต แธตเช่อร์ พยายามจะเจรจาขอเช่าต่อ แต่ผู้นำจีนในยุคนั้นคือ เติ้ง เสี่ยวผิง ไม่ยินยอม)
สำหรับรูปแบบการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งรัฐบาลจีนมีนโยบายใช้รูปแบบการปกครองดังกล่าวต่อฮ่องกง โดยตามกฎหมายพื้นฐาน ที่ใช้ปกครองและบริหารฮ่องกงที่สภาประชาชนจีนอนุมัติ และประกาศใช้ เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ ๔ เม.ย.๓๓ให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงินการพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเสรีรัฐบาลจีนได้กำหนดให้ฮ่องกงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา ๕๐ ปี (นับตั้งแต่วันที่ ๑ ก.ค.๔๐ จนไปถึงวันที่ ๓๐มิ.ย.๙๐) หลังจากนั้น ฮ่องกงจะเปลี่ยนไปปกครองแบบเมืองอื่น ๆ ของจีน
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
(ข้อมูลจากเว็บไซต์https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AE%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%87 )