จีนศึกษา ๑๖ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (“一带一路”)
ความสำเร็จของการขนส่งทางรถไฟตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (“一带一路”) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ในปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) การขนส่งทางรถไฟตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ได้เร่ง“ไปข้างหน้า” (“向前”) โดยเป็น “เส้นชีวิต” (“生命线”) สำหรับการขนส่งสิ่งของที่ขาดแคลนจากการป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งเป็น “เหล็กกล้า” (“钢铁洪流”) ที่มีส่วนร่วมดำเนินงานด้านเศรษฐกิจทั่วโลก และเป็นสัญญาณที่สำคัญในการเปิดช่องทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๓ ธ.ค.๖๔ รถไฟจีน–ลาวเปิดเดินรถตลอดทั้งสายอย่างเป็นทางการ เป็นก้าวสำคัญของการรถไฟสายทรานส์เอเชียที่เตรียมพร้อมมานานกว่าครึ่งศตวรรษได้ก้าวสู่ขั้นตอนสำคัญหนึ่งแล้ว โดยหลังจากรถไฟจีน – ลาว เปิดเดินรถ ทำให้การเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเวียงจันทน์ไปยังชายแดน สปป.ลาว – จีน ลดลงจาก ๒ วันเหลือเพียง ๓ ชั่วโมง และการเดินทางไปนครคุนหมิงของมณฑลหยูนหนาน ที่หากออกเดินทางในตอนเช้าจะสามารถถึงในตอนกลางคืนของวันเดียวกันได้ ทั้งนี้ มีรายงานการวิจัยของธนาคารโลก ระบุว่า รถไฟจีน – ลาว คาดว่าจะลดต้นทุนการขนส่งระหว่างเวียงจันทน์–คุนหมิงลง ๔๐% – ๕๐% และค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังของไทยไปยังนครคุนหมิงของจีน ที่คาดว่าจะลดลงอย่างน้อย ๓๒% รวมทั้งคาดว่าภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ปริมาณการขนส่งสินค้าประจำปีในช่วง สปป.ลาวของทางรถไฟจีน – ลาว จะสูงถึง ๓.๙ ล้านตัน
๒. โดยปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) เป็นวาระครบรอบ ๓๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน–อาเซียน ทั้งสองฝ่ายกำลังผลักดันการเชื่อมข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และ “แผนโดยรวมสำหรับความเชื่อมโยงการติดต่อกันของอาเซียนปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘)” รวมทั้งข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ม.ค.๖๕ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จะขับเคลื่อนการก่อสร้างทางรถไฟสายทรานส์เอเชียและส่งเสริมการเชื่อมต่อในภูมิภาค
บทสรุป นับถึงวันที่ ๑๖ ธ.ค.๖๔ จีนได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือด้านการสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ร่วมกับ ๑๔๕ ประเทศและ ๓๒ องค์การระหว่างประเทศ เป็นจำนวนมากกว่า๒๐๐ ฉบับ โดยจีนเสนอให้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) กองทุนเส้นทางสายไหม และสถาบันการเงินอื่น ๆ เพื่อขยายช่องทางการระดมทุนสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้จุดประกายแห่งแสงสว่างที่แสดงถึงความสำเร็จอย่างมั่นคงและหนักแน่นของการก่อสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง“ ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่า การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่อ่อนแอในหลายประเทศเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้ยากต่อการหลุดพ้นจากความยากจน ขณะที่ความสำเร็จของจีนได้เป็นตัวอย่างให้กับทุกประเทศในโลก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://world.people.com.cn/n1/2021/1227/c1002-32317930.html )