ภูมิภาค

ภูเก็ตปักธงความเป็นกลางทางคาร์บอน 2030 ตั้งเป้าลด 30% ภายใน 1 ปี

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ไลม์ไลท์ ภูเก็ต มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยงยั่งยืน ร่วมกับชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเทศบาลนครภูเก็ต สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 กรมควบคุมมลพิษและสำนักงานข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว โครงการความเป็นกลางทางคาร์บอน เมืองเก่าภูเก็ต

          นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนกล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศต่อหน้าประชาคมโลกในการประชุม COP 26 ว่า จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และบรรลุคาร์บอนสุทธิในปี 2065 นั้น จังหวัดภูเก็ตในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับโลกได้เริ่มมีการประสานงานและวางแผนในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผล และได้เริ่มต้นในการดำเนินการในพื้นที่ถนนถลางเพื่อศึกษาและประยุกต์รูปแบบก่อนที่จะขยายผลไปในพื้นที่ต่าง ของจังหวัดภูเก็ต โดยได้ร่วมมือกับชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ตสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ในการดำเนินการ ทั้งนี้ได้เริ่มต้นศึกษาปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดจากแหล่งปล่อยสำคัญ 4 แหล่ง ได้แก่ จากยานพาหนะ จากน้ำเสีย จากปริมาณการใช้ไฟฟ้า และจากปริมาณขยะ และจะดำเนินการปรับลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งทั้ง 4 แหล่งให้ได้ 30% ภายใน 12 เดือน โดยจะมีการวัดผลทุก 3 เดือน

        มูลนิธิฯ จะนำถุงขยะ 4 สี แจกให้กับชุมชนย่านเมืองเก่า เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยและประกอบกิจการในถนนถลางได้ร่วมมือกันแยกขยะอย่างเข้มขัน โดยทางเทศบาลนครภูเก็ตจะดำเนินการจัดเก็บตามปกติ และแยกส่วนขยะอินทรีย์ที่ใส่ถุงเขียวไว้ต่างหากและองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตจะดำเนินการรับขยะอินทรีย์ไปแปรสภาพเป็นสารปรับปรุงดินต่อไป และถุงสีชมพูจะจัดไว้ให้ผู้ประกอบการได้ตักไขมันจากถุงดักไขมันไว้เพื่อให้บ่อบำบัดน้ำเสียรวมของเทศบาลนครฯ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพน้ำในคลองบางใหญ่ที่จะดีขึ้น สามารถปรับคลองบางใหญ่มาใช้เป็นสถานที่นันทนาการได้ตามยุทธศาสตร์ของเทศบาลนครฯ ต่อไป

         นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมแถลงว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้วางยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมไว้หลายโครงการ และถือว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้จัดสรรงบประมาณเครื่องแปรสภาพขยะอินทรีย์เป็นสารปรับปรุงดิน มีความสามารถในการรองรับ 5 ตันต่อวัน โดยได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และวางแผนในการจัดสรรงบประมาณจัดหาเครื่องแปรสภาพขยะอินทรีย์เป็นสารปรับปรุงดินประจำพื้นที่ต่าง ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะทั่วไป และช่วยในการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการจัดการขยะอินทรีย์

         นายประสิทธิ์ สินเสาวภาคย์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ได้กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ตมีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนในโรงเรียนเทศบาลทุกแห่ง และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอินทรีย์เป็นพิเศษ เพราะเตาเผาขยะที่เทศบาลนครภูเก็ตดูแลอยู่นั้นประสบปัญหาความชื้นจากขยะอินทรีย์อย่างมาก การแยกขยะอินทรีย์จากต้นทางได้ และนำไปแปรสภาพให้เกิดประโยชน์เป็นกระบวนการที่ถูกต้องและเหมาะสมอย่างมาก ทั้งนี้ปัจจุบันเทศบาลนครภูเก็ตได้ดำเนินการแยกการจัดเก็บขยะอินทรีย์อยู่แล้ว และการที่ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตและมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนได้ดำเนินการจัดการแยกขยะอินทรีย์ใส่ถุงสีเขียวจะทำให้การเก็บขยะของเทศบาลนครภูเก็ตสะดวกรวดเร็วขึ้น

             นอกจากนี้ เทศบาลนครภูเก็ตได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนบริเวณถนนภูเก็ต เพื่อเป็นที่จอดรถสำหรับประชาชน หรือผู้ประกอบการด้านการขนส่งนักท่องเที่ยวให้สามารถจอดรถได้ เป็นการลดการจราจรในบริเวณย่านเมืองเก่า และจัดระเบียบการจอดรถให้เรียบร้อย สะดวกแก่ปะชาชนและนักท่องเที่ยว

          ด้านนางสาวปริเมษ เจริญนพคุณ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของสำนักงานควบคุมมลพิษคือการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังมลพิษในรูปแบบต่าง แม้ว่าจังหวัดภูเก็ตจะไม่ได้รับผลกระทบมากจากฝุ่นควันเหมือนในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคกลาง แต่มลพิษที่ระบายจากท่อไอเสียจากยานพาหนะที่ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้มีอันตรายไม่แพ้ฝุ่นควัน รวมถึงการระบายน้ำเสียที่เกินเกณฑ์ค่ามาตรฐานจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมได้

         สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำคลองบางใหญ่พบว่า คุณภาพน้ำคลองบางใหญ่อยู่ในระดับเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากการกระทำของมนุษย์ หากการร่วมมือกันในชุมชนย่านเมืองเก่าสามารถลดค่าความสกปรกที่ระบายลงสู่คลองบางใหญ่ได้จะส่งผลดีต่อทั้งสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต และภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวต่อไป

         รศ.ดร. ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ได้กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของสถาบัน คือการบูรณาการข้อมูลจากรัฐและเอกชนเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงวิเคราะห์ ซึ่งที่ผ่านมา ทาง BDI ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ทั้งในด้านการสาธารณสุข ท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของเราคืองานที่เมืองเก่าของภูเก็ตในวันนี้  ทาง BDI ได้ร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยงยั่งยืน เทศบาลนครภูเก็ต ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยลด การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของถนนคนเดินในเขตเมืองเก่าให้ได้มากที่สุดในขณะที่ยังให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน  เราได้มีการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ และนำเสนอให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ และผู้บริหารเมืองสำหรับใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก ในรูปแบบ Dashboard เพื่อการวัด ติดตาม ตรวจสอบ และพัฒนา โดยนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยประมาณคาร์บอนฟุตพรินต์จากกิจกรรมต่าง พร้อมรายงานสถานการณ์สภาพแวดล้อม อาทิเช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลจำนวนคน จำนวนยานพาหนะ ค่าน้ำเสีย การใช้ไฟฟ้า และปริมาณขยะแยกตามประเภทเป็นต้น  ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญคือการที่เทศบาลเมืองนครภูเก็ตจะสามารถเข้าใจสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ถนนคนเดินและสามารถกำหนดแนวทางการบริหาร จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และหากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะสร้างมิติใหม่ในการจัดการพื้นที่ และจังหวัดภูเก็ต ก็จะเป็นต้นแบบ สำหรับการขยายผลในถนนคนเดินของ จังหวัดอื่น ๆทั่วประเทศต่อไป

         นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองเก่าภูเก็ตได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศโดยได้รับข้อมูลว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกย่านเมืองเก่าในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ช่วงเวลา 08.00-17.00 . เฉลี่ยวันละ 10,000 คน และช่วงหลาดใหญ่วันอาทิตย์ระหว่างเวลา 17.00-22.00 . กว่า 33,000 คน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ชุมชนย่านเมืองเก่าเริ่มกังวลคือ การที่ยานพาหนะที่รับส่งนักท่องเที่ยวมักติดเครื่องยนต์รอนักท่องเที่ยวทำให้ควันเสียจากยานพาหนะได้ส่งผลต่อสุขภาพผู้อยู่อาศัย และนักท่องเที่ยวที่เดินชมเมืองเก่าเอง จึงอยากวิงวอนให้ทางผู้ประกอบการด้านการขนส่งได้กรุณาส่งนักท่องเที่ยวในจุดส่ง และจอดรถในบริเวณที่เทศบาลนครภูเก็ตได้จัดสรรให้

          นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนกล่าวเสริมว่าโครงการความเป็นกลางทางคาร์บอนเมืองเก่าภูเก็ต เป็นการนำแนวปฏิบัติมาใช้จริงและจำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการและผู้อาศัยในถนนถลางที่จะต้องแยกขยะอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากคณะเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกลุ่ม Phuket Young Ambassador จะร่วมกลุ่มกันให้ความรู้ด้านการแยกขยะในช่วงหลาดใหญ่ เพื่อรณรงค์และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกันแยกขยะอย่างจริงจัง

     โครงการต่อไปของมูลนิธิฯ คือ การร่วมมือกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว ได้แก่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในการเตรียมข้อเสนอต่อ สภาการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก เพื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมGSTC 2025 Global Conference ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนปีนี้ที่ประเทศสวีเดน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการจัดการประชุมด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก

         สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน โทร. 076610365-6

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า