ครองแชมป์เรื่องร้องเรียนถึง ป.ป.ช.มากที่สุด พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง
เร่งติวเข้มทุกภาคส่วนอุดช่องโหว่การกระทำทุจริต ที่ อปท.จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ก.ย.2565 ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค4 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ อินทรถาวร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดโครงการศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสร้างมาตรการและกลไกการบังคับใช้กฎหมายการป้องกันการถูกดำเนินคดีและหลักคิดการจัดทำร่างกฎหมายป้องกันการถูกฟ้องคดีอาญา (การฟ้องเพื่อปิดปาก Anti – SLAPP Law) เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติและแนวทางการคุ้มครองสิทธิพยานตามแผนปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 3 โดยมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายสุรพงษ์ อินทรถาวร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า รัฐต้องให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสอันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต อีกทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ยังได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ขึ้นเพื่อส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้ประกอบกับแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยได้กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานหลัก ในกระบวนการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในรูปแบบคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งได้เห็นชอบให้มีการจัดทำกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก เพื่อห้ามรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐ และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นหรือเปิดโปงเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบที่ครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักข่าว สื่อมวลชน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลผู้นั้นกระทำ โดยไม่บริสุทธิ์
“สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้จัด โครงการศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสร้างมาตรการและกลไกในการบังคับใช้กฎหมายการป้องกันการถูกดำเนินคดีและหลักคิดการจัดทำร่างกฎหมายป้องกันการถูกฟ้องคดีอาญา (การฟ้องเพื่อปิดปาก Anti-SLAPP Law) เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติ และแนวทางการคุ้มครองสิทธิพยานตามแผนปฏิรูปประเทศขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในการพัฒนากฎหมายเพื่อสร้างมาตรการและกลไกในการบังคับใช้กฎหมายการป้องกันการถูกดำเนินคดี รวมถึงเผยแพร่หลักคิดการจัดทำร่างกฎหมายป้องกันการถูกฟ้องคดีอาญาและแนวทางการคุ้มครองสิทธิพยานตามแผนปฏิรูป“
ขณะที่ นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 กล่าวว่า ป.ป.ช. ภาค 4 มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบนโดย มีผลการดำเนินด้านการปราบปรามการทุจริต ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.- 31 ส.ค. 2565 แยกเป็นเรื่องสะสมยกมา 1,383 เรื่อง เรื่องรับใหม่ 791 เรื่อง 2,174 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 1,101 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 50.64 คงเหลือ 1,073 เรื่อง โดยเรื่องที่ร้องเรียนที่มากที่สุดประกอบด้วย การจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับเงินในค่าตอบแทนบรรจุแต่ตั้งข้างรายการค่าตอบแทนออกใบอนุญาต และเรื่องการบริหารงานภายในขององค์กร
“จังหวัดที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น และสกลนคร โดยร้อยเอ็ดเรื่องร้องเรียนมากที่สุดเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างแต่การทำงานวันนี้มีการบูรณาการหลายส่วนเรามีคลินิกสุจริตเป็นการทำงานระหว่าง ป.ป.ช. สตง. และสำนักงานคลังจังหวัดในฐานะกรมบัญชีกลางที่จะลงให้ความรู้กับ อปท. ทุกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างน้อยลง ดูได้จากสถิติที่พบว่าปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.รับเรื่องร้องเรียนประมาณ 1,000 กว่าเรื่อง ปีนี้เรื่องร้องเรียนเหลือ 700 กว่าเรื่อง ซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด