ประเพณีตบประทายเพื่อความเป็นสิริมงคลและความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารในชุมชนและหมู่บ้าน
ของชาวบ้านหนองนกเป็ด ม.1 ตำบลสระนกแก้ว อ.โพนทอง
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 6 พ.ค.2565 นายบรรพต บุตรพรหม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านหนองนกเป็ด ตำบลสระนกแก้ว อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ประกาศหอกระจายข่าวกำหนดวันเวลาทำพิธีตบประทายส่วนมากจะเป็นหลังวันเลี้ยงเจ้าปู่กุดเป่งของทุกปีภายในเดือน6 ปีนี้ 2565 วันนี้ 6 พ.ค.2565 เวลา 13.00 น.กำหนดในบริเวณวัดบ้าน ประกอบพิธี ชาวบ้านจะเดินทางมาถวายเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ที่วัดจากนั้นก็จะมีการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ที่หลักประทาย โดยมีเฒ่ากระจ้ำพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ในการประกอบพิธีทางความเชื่อดั้งเดิม นำเครื่องเซ่นไหว้บวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าปู่เจ้าเขาที่ หลักประทาย ประกอบด้วย หมากพลู บุหรี่และภาหวาน (สำหรับของหวาน มีข้าวเหนียวกับกล้วย มะม่วงสุกเป็นต้น) ขันดอกไม้ซึ่งประกอบด้วยดอกไม้และเทียนอย่างละ 5 คู่ น้ำ 1 แก้ว บั้งไฟเสี่ยงทาย โดยชาวบ้าน จะนำ แก้วน้ำ กระป๋องนม ถ้วย หรือถังน้ำขนาดเล็ก บรรจุทรายมาจากบ้านของตน ซึ่งส่วนใหญ่จะตักทรายมาจากตามร่องน้ำ เนื่องจากมักจะมีตะกอนทรายเป็นจำนวนมาก
จากนั้นก็จะทำพิธีตบประทาย โดยคว่ำภาชนะที่บรรจุทรายลงที่โคนหลักประทาย และปั้นทรายเป็นรูปเจดีย์ รูปสัตว์ จระเข้ เต่า จากนั้นก็จะมีการจุดบั้งไฟเสี่ยงทายบั้งแรกเสี่ยงทายเกี่ยวกับคน บั้งที่สอง เสี่ยงทายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง (วัวควาย) และบั้งที่สาม เสี่ยงทายเกี่ยวกับน้ำท่าฟ้าฝน หากว่าบั้งไฟขึ้นตรงทุกบั้งก็แสดงว่าปีนั้นผู้คนและสัตว์เลี้ยงจะไม่ค่อยเจ็บป่วยล้มตาย ฝนตกน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ถ้าบั้งใดขึ้นไม่ตรงหรือแตกก็จะทำนายว่าจะไม่ค่อยปกติหรือแห้งแล้งแล้วแต่กรณี เมื่อเสร็จพิธีก็จะแยกย้ายเดินทางกลับหมู่บ้าน
สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านจะนำมาร่วมพิธีก็คือ กระทงหน้าวัว ซึ่งเป็นกระทงกาบกล้วยรูปสามเหลี่ยม ภายในกระทงชาวบ้านจะนำข้าวดำ ข้าวแดง หมากพลู บุหรี่ อาหารคาว–หวาน พริก เกลือดอกไม้และเทียนอย่างละ 1 คู่ รวมทั้งมีการตัดผมและเล็บใส่ในกระทงด้วย พระสงฆ์จะพรมน้ำพระพุทธมนต์ใส่กระทงแล้วชาวบ้านจะนำไปทิ้งนอกหมู่บ้าน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการทิ้งเคราะห์ทิ้งโศกเพื่อให้เกิดศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
จากการสอบถามผู้เฒ่าที่สูงวัยในหมู่บ้านเกี่ยวกับที่มาของประเพณีตบประทายได้ความว่า “ประทาย” หรือการนำทรายมาก่อบูชาที่หลักไม้ ที่เรียกว่า “หลักประทาย” ซึ่งหลักไม้เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณเจ้าป่าเจ้าเขา หรือผีบรรพบุรุษ ผู้ที่คุ้มครองปกปักรักษาชาวบ้าน หลักประทายเป็นเสาไม้ขนาดไม่แน่นอน ฝังอยู่บนพื้นดินสูงประมาณ 1-1.50 เมตร ปลายเสาทำเป็นรูปที่มีลักษณะคล้ายดอกบัว มีหลักใหญ่อยู่ตรงกลาง 1 หลัก คำว่า “ตบประทาย” นั้น อาจเพี้ยนมาจากคำว่า “นบพระทราย” คือการนำทรายมาก่อเป็นเจดีย์ เพื่อถวายเป็นเครื่องบูชา และอาจจะมาจากการนำภาชนะบรรจุทรายมาคว่ำลงหรือที่ชาวอีสานเรียกว่า “ตบ” ที่โคนหลักประทาย จึงมีเรียกว่า “ตบประทาย” ก็เป็นได้
สุเทพ ลอยแก้ว/รายงาน