ผู้ว่าฯสุราษฎร์ธานีร่วมเปิดอาคารที่ทำการและพิธีอันเชิญองค์ครุฑขึ้นประดิษฐานบนหน้าบันอาคารสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8
วันที่ 15 มี.ค.2565 นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมเปิดอาคารที่ทำการและพิธีอันเชิญองค์ครุฑขึ้นประดิษฐานบนหน้าบันอาคารสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 เลขที่ 55/57 ถนนสุราษฎร์ – นาสาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีนายปัญญา ช่อมณี อธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 เป็นประธานในพิธีลั่นฆ้อง จุดเทียนและธูปหน้าโต๊ะเครื่องบวงสรวง ก่อนคล้องมาลัยหน้าองค์ครุฑ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมงาน ได้ร่วมโปรยดอกไม้หน้าเครื่องสังเวย ก่อนร่วมกันอัญเชิญองค์ครุฑขึ้นประดิษฐานบนหน้าบันอาคารสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8
ทั้งนี้ ตามคติไทยโบราณ เชื่อว่าครุฑเป็นพญาแห่งนกทั้งมวล และเป็นพาหนะของพระวิษณุ ปกติอาศัยอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรี ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สุบรรณ“ ซึ่งหมายถึง “ขนวิเศษ” นอกจากตำนานข้างต้นแล้ว ครุฑยังมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการถือว่าครุฑเป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทย ที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้นครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มาก และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล
ต่อมาได้มีการใช้ “ตราครุฑ” เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วๆ ไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ ส่วนรูปครุฑที่เป็นธงแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า “ธงมหาราช“ เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ธงมหาราชนี้เมื่อเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใด แสดงว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น