ขอนแก่น จับมือ บพท.เปิดตัว “รถแทรม” ขนส่งระบบรางสายแรกของอีสาน ด้วยฝีมือคนไทย “ธีระศักดิ์” เผย กลางปี 65 เริ่มทดลองวิ่งรอบบึงแก่นนคร แน่
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 ก.พ.2565 ทีบริเวณหน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ถ.กลางเมืองเขตเทศบาลนครขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น หรือ ทน. ร่วมตรวจเยี่ยมการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ – ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น และโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ–ท่าพระ) รวมทั้งการเยี่ยมชมนิทรรศการระบบขนส่งมวลชนแบบรางเบา หรือแทรม รถต้นแบบจากฝีมือคนไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยและดำเนินโครงการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. กระทรวงการอุดมศึกษาวิจัย และนวัตกรรม ให้ดำเนินการจัดทำขึ้นเป็นต้นแบบขบวนแรกของประเทศจากฝีมือคนไทย
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายก ทน.ขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินโครงการการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา ด้วยจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการตามพรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2561 มาตรา 48 กำหนดให้ผู้ดำเนินการโครงการ หรือผู้ขออนุญาตต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. เสนอให้ จังหวัดขอนแก่น โดยเทศบาลทั้ง 5 แห่ง ซึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท KKTS เป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามผลการทบทวน การศึกษาความเหมาะสมโครงการขอนแก่นSmart City(ระยะที่ 1)ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบาสาย เหนือ–ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นและโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขต จ.ขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ–ท่าพระ) เตรียมรองรับเส้นทางเมืองขอนแก่น 26 กิโลเมตรในอีก 3 ปี
“ข้อมูลจาก สำนักงาน สภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติหรือ สอวช. และ หน่วยบริหารและการจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ได้เปิดตัวต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยฝีมือคนไทยที่วันนี้ได้เสนอผลสำเร็จจากการสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยและชิ้นส่วนอะไหล่ที่ผลิตภายในประเทศไทยเพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ด้วยต้นแบบ ขบวนรถไฟฟ้ารางเบาพร้อมเปิดตัวขบวนรถวิ่งทดสอบกลางปีนี้“
นายธีระศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า เส้นทางนำร่องต้นแบบที่จะเปิดทำการทดสอบและทดลองวิ่งในกลางปีนี้ รอบบึงแก่นนคร เขตเทศบาลนครขอนแก่น เพื่อเป็นการเตรียมรองรับเส้นทางเมืองขอนแก่น 26 กม. ในอีก 3 ปี โดยมี ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยา เขตขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการในการผลิตต้นแบบโบกี้(Bogie) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา ชนิดพื้นต่ำ, ตัวถัง (Car Body) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา ชนิดพื้นต่ำ, มอเตอร์ลากจูง (Traction Motor) ,อินเวอร์เตอร์ขับเคลื่อน (Traction Inverter) ,ระบบปรับอากาศ (Cooling System) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา ,แพนโตกราฟ (Pantograph) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา ,ระบบจ่ายไฟฟ้าเสริม (Auxiliary Power Unit) ,สำหรับรถไฟฟ้าราง เบาอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวราง(Fastener) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา,และหมอนคอนกรีตอัดแรง(Sleeper) ผสม ยางพารา สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา โดยร่วมกับภาคเอกชนที่ร่วมทำวิจัยได้แก่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล อินโนโลยี จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เทพประทานพร วัสดุภัณฑ์ โดยหลังจากประกอบ ต้นแบบแล้วเสร็จแล้ว จะมีการทดสอบการทำงานและนำมาประกอบรวมกันเป็นขบวนรถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบ และทำการทดสอบวิ่งในเส้นทางทดสอบในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และเส้นทางวิ่งบริเวณรอบบึงแก่นนคร
“แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ระบบรางเบาสายเหนือ–ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปี ใช้งบสนับสนุนงานในโครงการวิจัย จาก บพท.รวม 100 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ได้มีการทดสอบการวิ่งภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ก่อนจะนำมาทดสอบให้บริการในเส้นทางรอบบึงแก่นนคร เพื่อการศึกษา เรียนรู้ เพิ่มเติมของการให้บริการรถไฟฟ้ารางเบา ในด้านการใช้ถนนร่วมกับยานพาหนะอื่นโดยต้นแบบโบกี้ขนส่งมวลชนระบบรางเบา จะได้มีการจัดแสดงที่บริเวณหน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ระหว่างวันที่ 25 ก.พ.- 6 มี.ค. เพื่อให้ชาวขอนแก่นและผู้ที่สนใจ ได้ชื่นชมฝีมือคนไทยและชมนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น เร็วๆนี้“