จีนศึกษา ๒๙๐ “การป้องกันประเทศจีนในศักราชใหม่”
บทบาททางการทหารของจีน จากสมุดปกขาวด้านการป้องกันประเทศ ฉบับปี ๒๐๑๙(พ.ศ.๒๕๖๒) เรื่อง “การป้องกันประเทศจีนในศักราชใหม่” (China’s National Defense in the New Era) โดยเน้นการดำเนินการใน ๖ ประเด็นใหญ่ๆ อาทิ สถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ แนวนโยบายการป้องกันประเทศของจีนเชิงป้องกันในยุคใหม่การสนองตอบต่อภารกิจและการจัดกองทัพในยุคใหม่ การปฏิรูปการป้องกันประเทศและกองทัพของจีน ค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศที่มีเหตุผลและมีความเหมาะสมและกิจกรรมที่เกื้อกูลต่อการสร้างประชาคมที่มีอนาคตของมวลมนุษยชาติ
สำหรับแนวนโยบายการป้องกันประเทศของจีน ยังคงมุ่งยืนหยัดต่อแนวคิดหลักในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติห้าประการ อันได้แก่ การเคารพในเอกราชและอำนาจอธิปไตยซึ่งกันและกัน การไม่รุกรานซึ่งกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันด้วยความเท่าเทียมกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติทั้งนี้ เพี่อมุ่งสู่เป้าหมายพื้นฐานด้านการป้องกันประเทศของจีนในยุคใหม่ ในการคุ้มครองอำนาจอธิปไตย การรักษาความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาประเทศ รวมทั้งภารกิจในการป้องกันประเทศยุคใหม่ต้องสนองตอบต่อหลักการ “ให้บริการประชาชน” โดยได้ขยายขอบเขตรวมถึงการให้บริการต่อประชาคมโลก เพื่อแสดงบทบาทให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า จีนจะเป็นผู้พิทักษ์สันติภาพโลกอย่างถาวร ซึ่งอาจจำแนกบทบาททางการทหารของจีนได้ ๓ ประการ ได้แก่
๑. บทบาทในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารของจีน จะเป็นไปในลักษณะการเสริมสร้างหลักประกันในความเป็นอิสระ ความสามารถในการพึ่งตนเองและสามารถปฏิบัติการทางทหารในเชิงป้องกัน เพื่อให้ประเทศสามารถดำรงความเป็นเอกราชและรักษาอำนาจอธิปไตย มีความเป็นอิสรภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนรวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศ
๒. บทบาทในการสนับสนุนต่อการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องและมีความเข้าใจในความแตกต่างของระบบอุดมการณ์ทางสังคม เพื่อลดการเผชิญหน้าในการแย่งชิงผลประโยชน์ในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์และอีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานของความเชื่อใจ (Mutual Trust) เชื่อมั่นในผลประโยชน์ (Mutual Benefit) มีความเท่าเทียมกัน (Equality) และมีความร่วมมือกัน (Cooperation)
๓. บทบาทในการผลักดันแนวคิดความมั่นคงใหม่ให้บังเกิดผลในการปฏิบัติ ด้วยการมีกิจกรรมทางการทหารและความมั่นคงในรูปแบบความร่วมมือที่เป็นแบบพหุภาคี(Multilateralism) เช่น การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงแห่งเอเชีย–แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) และการประชุมว่าด้วยการแสวงหามาตรการเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (ด้านความมั่นคง) ในเอเชีย(Conference on Interaction and Confidence-Building Measures in Asia: CICA) เป็นต้น
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.xinhuanet.com/english/2019-07/24/c_138253180.htm และเว็บไซต์ http://eng.chinamil.com.cn/view/2019-07/24/content_9567509.htm รวมทั้งวารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ ๖๖ ฉบับที่ ๑ เดือนม.ค. – เม.ย.๖๐ หน้า ๓๑ – ๔๖)