จีนศึกษา๑๖๔ สายแถบเส้นทางกับประเทศเพื่อนบ้าน
หลักคิดในการกำหนดนโยบายเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน จากกรณีการพัฒนามณฑลยูนนาน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยมีนครคุนหมิงเป็นเมืองเอก ที่มีชายแดนติดกับเมียนมาร์ ลาวและเวียดนาม รวมทั้งอยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง ๒๐๐กิโลเมตรเศษ เพื่อรองรับกับการเร่งผลักดันข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลยูนนาน กล่าวคือ
ประการแรก นโยบาย ๒ วงล้อขับเคลื่อน ประกอบด้วย นโยบาย “เชิญเข้ามา” และ นโยบาย“ก้าวออกไป” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยขับเคลื่อนการเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศ นโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและตลาดทั้งสองฝ่ายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ประการที่สอง นโยบาย ๔ นอกเป็นตัวนํา ประกอบด้วย (๑) การค้ากับต่างประเทศ (๒) การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ (๓) การร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยี และ(๔) การร่วมมือกับกลุ่มเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ โดยนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในมณฑลยูนนาน และนําไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจของมณฑลในอนาคต
ประการที่สาม นโยบาย ๕ กุญแจสําคัญในการดําเนินยุทธศาสตร์การพัฒนามณฑลในระยะต่อไปจะถูกกําหนดให้อยู่ภายใต้กรอบ ”ห้ากุญแจสําคัญสู่ความสําเร็จ” ซึ่งประกอบด้วย (๑) การสร้างระบบการคมนาคมที่ครบวงจรโดยอาศัยแนวทางการเชื่อมโยงจากประเทศจีนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (๒) การยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตจากปัจจุบันซึ่งมีขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น (๓) การสร้างปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ประกอบด้วยการพัฒนาระบบสารสนเทศ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์การพัฒนารูปแบบของตลาดที่มีความทันสมัย การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต้อการลงทุน และเพิ่มความสามารถของแรงงานในระดับท้องถิ่นรวมไปถึงการปฏิรูประบบราชการให้มีความทันสมัยมากขึ้น (๔) การส่งเสริมสนับสนุนการขยายตลาด (๕) การพัฒนากลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมงานบริการ
ประการที่สี่ นโยบาย ๑ วง ๕ โซน ๓ สาย โดย “หนึ่งวง” หมายถึง วงรอบกรอบพื้นที่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีการวางแผนจัดทําเป็นเขตเศรษฐกิจการค้าเสรี สำหรับ “ห้าโซน” หมายถึง มณฑลยูนนานต้องสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับอีก ๕ มณฑลในเขตตะวันตกอันประกอบด้วยมณฑลกุ้ยโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) มณฑลเสฉวน มหานครฉงชิ่ง และเขตปกครองตนเองทิเบต เพื่อทําให้นครคุนหมิงกับเมืองเอกของมณฑลตามที่ได้กล่าวมา กลายเป็นกลุ่มตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ภายในกลุ่มต้องพยายามประสานการพัฒนาระหว่างกันกับภายนอกประเทศใหญ่เป็นหนึ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาในเศรษฐกิจของทั้งกลุ่มมณฑลฝั่งตะวันตก ส่วน “สามสาย” หมายถึงการพัฒนาเส้นทางโครงข่ายคมนาคมเพื่อเป็นเส้นทางนําไปสู่ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย ๓ เส้นทางสําคัญ คือ (๑) เส้นทางสู่ตะวันตก (ทางออกมหาสมุทรอินเดีย) คือ เส้นทางคุนหมิง–มัณฑะเลย์–ย่างกุ้ง (๒) เส้นทางสู่สิงคโปร์ คือ เส้นทางคุนหมิง–กรุงเทพฯ–สิงคโปร์ และ (๓) เส้นทางสู่โฮจิมินห์คือ เส้นทางคุนหมิง–เหล่าเจีย ในเวียดนาม –ฮานอยโฮจิมินห์ โดยทั้งสามเส้นทางคือ เส้นทางออกสู่ทะเลที่สําคัญของมณฑลยูนนาน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจที่ทําให้เกิดการค้าขายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันในระดับภูมิภาค
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์https://baike.baidu.com/item/%E4%BA%91%E5%8D%97%E7%9C%81%E5%8F%91%E5%B1%95%E5%92%8C%E6%94%B9%E9%9D%A9%E5%A7%94%E5%91%98%E4%BC%9A/9894191 )