จีนศึกษา๑๕๐ โอกาสทางการค้าของไทยในยูนนาน
โอกาสอันดีของประเทศไทยในการแสวงหาผลประโยชน์ร่วม จากความเคลื่อนไหวในการพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเหมิ่งล่า ในพื้นที่เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนานของจีน ซึ่งจะเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญ ๔ ด้าน ได้แก่
๑.การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการเกษตรโดยยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรดั้งเดิม อาทิธัญพืช ยางพารา ใบชา และอ้อย ฯลฯ รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งต่ออุตสาหกรรมเกษตรใหม่ที่โดดเด่น เช่น ยาสมุนไพรไทลื้อ ดาวอินคา แมคคาเดเมีย และวัสดุไม้ โดยสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอันทันสมัยและพัฒนาการแปรรูปเชิงลึก
๒. การพัฒนาด้านการแปรรูปเพื่อการส่งออก โดย พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป เช่น ยางพาราและใบชา แร่ การแปรรูปไม้ อุปกรณ์เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ข้าวข้าวโพด ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์สัตว์และสัตว์น้ำ ฯลฯ
๓. การพัฒนาด้านการค้าและโลจิสติกส์ โดยสร้างตลาดและศูนย์ขนส่งสินค้าโดยเฉพาะอาทิ สินค้าเกษตร วัสดุไม้ ผลิตภัณฑ์แร่ อุปกรณ์เครื่องจักรกล ของใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ และของที่ระลึก ฯลฯ โดยสร้างศูนย์โลจิสติกส์ที่ทันสมัยเพื่อเชื่อมจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวเส้นทางจิ่งหง–บ่อหาน–หลวงน้ำทา–เชียงใหม่–กรุงเทพ และเส้นทางคุนหมิง–บ่อหาน–หลวงพระบาง–เวียงจันทน์ เป็นต้น
๔. การพัฒนาด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดย ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวนานาชาติ เช่น เส้นทางท่องเที่ยวจิ่งหง (เชียงรุ้ง) –หลวงพระบาง–เชียงใหม่–เชียงตุง ทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเหมิ่งล่าและเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ไม่ใช่เป็นเพียงแค่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่สำคัญเท่านั้น แต่กลายเป็นแหล่งนัดพบและจุดพักสินค้าที่สำคัญระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ พื้นที่ทดลองเขตเศรษฐกิจพิเศษเหมิ่งล่า ซึ่งมีขนาดพื้นที่ ๔,๐๐๐ ตร.กม. ได้แบ่งเป็นพื้นที่ร่วมพัฒนาจีน–ลาว โดยมีขนาดพื้นที่ในฝั่งจีน ๔.๘๓ ตร.กม. และในฝั่งลาว ๑๖.๔ ตร.กม. สำหรับในอนาคตฝั่งจีนจะขยายเพิ่มเป็น ๓๕ ตร.กม. ในปี พ.ศ.๒๕๗๓ ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังสร้างเป็นเขตทัณฑ์บนภาษีและปลอดภาษีแล้ว โดยจะเสร็จสมบูณ์ในอีก ๑ – ๓ ปี นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าและกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดภายในประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจเหมิ่งล่า ที่มีปริมาณสินค้าจากไทยและลาว ผ่านเข้ามาในช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๒ ปีละประมาณ ๔ ล้านตัน โดยสินค้าไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ หมอนยางพารา มาม่า และเครื่องสำอางค์ เป็นต้น
ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสดีของประเทศไทย หากสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเหมิ่งล่าของจีน กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงรายของไทย โดยเฉพาะบนสองปลายทางของเส้นทาง R3A จะทำให้ถนนเส้นนี้ เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่ทั้งไทยและจีนก็ควรคำนึงถึงความสมดุลจากการพัฒนาเพื่อการได้รับผลประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งไทยและจีน อาทิ การแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีทักษะความชำนาญ และในด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ ซึ่งจีนมีทักษะความชำนาญ เป็นต้น
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
(ข้อมูลจากเอกสารของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา องค์การมหาชน,๒๕๕๘. พลวัตรของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและนัยต่อประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับบิสซิ่ง จำกัด )