จีนศึกษา๑๒๕ ความร่วมมือไทย-จีน
การที่ไทยและจีนเห็นความสำคัญของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันบนพื้นฐานของหลักการในการเคารพซึ่งกันและกันต่อบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของกันและกัน การไม่รุกรานซึ่งกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน การยอมรับในความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทำให้นำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (全面战略伙伴关系 / Comprehensive Strategic Partnership) เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ อันจะนำไปสู่แนวทางของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย–จีน ในอนาคต กล่าวคือ
ทั้งไทยและจีนต่างตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของทั้งสองประเทศ รวมทั้งอนุภูมิภาคและภูมิภาคในภาพรวมท่ามกลางความผันแปรของเศรษฐกิจโลก
ทั้งไทยและจีนจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน–จีน เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของสันติภาพ เสถียรภาพ ความรุ่งเรือง และความยั่งยืนในภูมิภาค ผ่านกลไกที่นำโดยอาเซียน อาทิ การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three: APT) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus: ADMM Plus) เป็นต้น
ทั้งไทยและจีน ยินดีต่อความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างการบูรณาการระหว่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025: MPAC 2025) กับข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความเชื่อมโยงต่างๆ และจะส่งเสริมการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน) ระหว่างอาเซียนกับจีน
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.fmprc.gov.cn/chn/pds/ziliao/1179/t924487.htm )