จีนศึกษา๔๖ แผนห้าปี
คณะรัฐมนตรีของจีนได้ออก “แผนห้าปี ฉบับที่ ๑๔” เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (“十四五”数字经济发展规划) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. สืบเนื่องจากความปลอดภัยของข้อมูลได้เผชิญกับความท้าทายหลัก ๓ ประการได้แก่ (๑) ประการแรก ความปลอดภัยของข้อมูลเผชิญกับสภาพแวดล้อมเครือข่ายที่ซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้การเชื่อมต่อของทุกสิ่งที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ (๒) ประการที่สอง ความยากในการต่อต้านการติดตามบนอินเทอร์เน็ตที่กำลังเพิ่มขึ้น (๓) ประการที่สาม ความคืบหน้าของกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของข้อมูลในประเทศต่างๆ จากอาชญากรรมข้ามชาตินั้น ยังมีความไม่เสมอภาคกัน ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีของจีนจึงได้ออก “แผนห้าปี ฉบับที่ ๑๔” (“十四五”) เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการปรับปรุงธรรมาภิบาลเศรษฐกิจดิจิทัล และมุ่งเน้นการเสริมสร้างระบบรักษาความปลอดภัยของเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีหลักประกัน โดยสร้าง “สี่คานและแปดเสา” (“四梁八柱” ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของอาคาร อันเป็นการอุปมาอุปมัย ซึ่งเน้นว่าการปฏิรูปของจีนต้องมีเรื่องกรอบพื้นฐาน) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดี
๒. แผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนั้น ได้จัดเตรียมการโดยรวมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศจีนในช่วง “แผนห้าปี ฉบับที่ ๑๔” (ปี ๒๐๒๑ – ๒๐๒๕ หรือ พ.ศ.๒๕๖๔ – ๒๕๖๘) โดยมีการเสนอว่าภายในปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘) เศรษฐกิจดิจิทัลจะเข้าสู่ช่วงการขยายตัวอย่างครอบคลุม และมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมหลักของเศรษฐกิจดิจิทัลจะคิดเป็น ๑๐% ของ GDP ขณะเดียวกันก็เน้นเสริมสร้างระบบความปลอดภัยเศรษฐกิจดิจิทัลให้แข็งแกร่งเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓. การเสริมสร้างความปลอดภัยของข้อมูลต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย
๓.๑ ประการแรก จำเป็นต้องเสริมสร้างอุปสรรคด้านความปลอดภัยในทางเทคนิค เสริมความแข็งแกร่งให้กับไฟร์วอลล์อย่างต่อเนื่อง และยังคงเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการป้องกันขั้นพื้นฐาน การสร้างและการนำระบบเทคโนโลยีการป้องกันขั้นพื้นฐานมาใช้ และการรักษาความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่สำคัญ
๓.๒ ประการที่สอง จำเป็นต้องดำเนินกิจกรรมการประเมินความเสี่ยงและการรับรองความปลอดภัยสำหรับการไหลของข้อมูลอย่างปลอดภัย กระตุ้นให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีวินัยในตนเองที่ดี “เทคโนโลยีที่ดี” (“科技向善”) โดยมีกฎเกณฑ์และระบบจริยธรรมในการสร้างประเทศให้มีอำนาจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์และการบริการที่ปลอดภัยรวมถึงการเชื่อถือได้ให้มากที่สุด การปรับปรุงความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งปรับปรุงการจัดการเหตุฉุกเฉินและความสามารถในการระบุความเสี่ยงของเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยเครือข่ายที่สำคัญ
บทสรุป ในกระบวนการเสริมสร้างความปลอดภัยของข้อมูลนี้ ไม่เพียงแต่ต้องอัพเกรดเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังต้องมีการควบคุมดูแลและการคุ้มกันทางกฎหมาย โดยต้องให้ความสำคัญกับการจัดประเภทข้อมูล การรวบรวมข้อมูล การส่ง การจัดเก็บ การใช้ การเปิดและการเชื่อมโยงอื่นๆ รวมทั้งการสร้างความมั่นใจว่า ขอบเขตของหัวข้อที่รับผิดชอบ และข้อมูลเฉพาะของการรักษาความปลอดภัยเครือข่าย จำเป็นต้องมีการเสริมสร้างเพื่อการปกป้องข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงสาธารณะ ความลับทางการค้า ความเป็นส่วนตัวตลอดจนการคุ้มครองข้อมูลที่ผลิตโดยการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทหาร
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์http://www.stdaily.com/kjrb/kjrbbm/202201/27b348e8397440b6a0b69341a07fd93c.shtml และเว็บไซต์ http://union.china.com.cn/cmdt/txt/2022-01/30/content_41868263.html )