จังหวัดเชียงรายถวายเครื่องสักการะและสรงน้ำพระหยกเชียงราย อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระอุโบสถ ก่อนทำการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารหอพระหยก
วัดพระแก้ว พระอารามหลวง อัญเชิญพระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล หรือพระหยกเชียงราย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว เพื่อทำการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารหอพระหยก ซึ่งเป็นอาคารไม้สร้างมาตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา
วันนี้ (11 เม.ย. 66) ที่วัดพระแก้ว พระอารามหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องสักการะและสรงน้ำพระหยกเชียงราย โดยมีพระธรรมวชิราธิบดี เจ้าคณะภาค 17 เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา พระครูสุธีสุตสุนทร เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว พระภาวนาโกศลเถร วิ. พระไพศาลประชาทร วิ. พระเถรานุเถระ จำนวน 9 รูป นายอภัย จันทนจุลกะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและ พุทธศาสนิกชน ร่วมพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายประดิษฐานบนพระอุโบสถ
โดยในช่วงเช้าได้มีพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายขึ้นประดิษฐานบนราชรถบริเวณหน้าหอพักหยกเชียงราย จากนั้นได้อัญเชิญพระหยกเชียงรายเวียนทักษิณาวัตรรอบพระอุโบสถ 3 รอบ ก่อนอัญเชิญพระหยกเชียงรายขึ้นประดิษฐาน ณ บุษบกในพระอุโบสถจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประธานในพิธีสรงน้ำพระราชทานพระหยกเชียงราย พร้อมถวายเครื่องทรง(ทองคำ)แด่พระหยกเชียงราย พระสงฆ์ 9 รูป สวดเจริญชัยมงคลถา จากนั้นประธานนำถวายเครื่องสักการะพระหยกเชียงราย
พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล หรือชื่อทั่วไปคือ พระหยกเชียงราย เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะแบบเชียงแสน แกะสลักจากหินหยกชนิดที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา ปางสมาธิ ฐานเขียง พระโมลีเป็นต่อมกลม ขนาดหน้าตักกว้าง 49.7 เซนติเมตร สูง 65.9 เซนติเมตร ฐานแกะสลักด้วยหินหยกสีเขียวเป็นรูปบัวสูงประมาณ1 ศอก เป็นฐานบัวศิลปะเชียงแสน เครื่องทรงสร้างด้วยอัญมณีและทองคำ แบบเครื่องทรงแบบเชียงแสน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว กรุงเทพมหานคร
ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2533 คณะสงฆ์หนเหนือนำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์(สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดสร้างพระแก้วมรกตจำลอง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ได้ประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานพระนามพระพุทธรูปหยกว่า “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” มีความหมายว่า“พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา” และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามว่า “พระหยกเชียงราย” คณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดพิธีสมโภชอัญเชิญพระหยกเชียงรายไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงรายระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม พ.ศ. 2534
สำหรับหอพระหยก เป็นอาคาร ค.ส.ล. ทรงล้านนาโบราณประกอบด้วยไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล หรือ พระหยกเชียงราย บนผนังอาคาร แสดงกิจกรรม จากตำนานพระแก้วมรกต และภาพวาดการสร้าง และมีพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอารามในวันที่ 19 ตุลาคม 2534 ซึ่งการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งนี้คาดว่าใช้เวลาประมาณ 270 วัน
.
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ภาพ/ข่าว