จีนศึกษา ๓๘๐ สงครามไซเบอร์ในอนาคต
Qin An รองผู้อำนวยการคณะกรรมการต่อต้านการก่อการร้ายและความปลอดภัยทางไซเบอร์ของกฎหมายตำรวจแห่งประเทศจีน ได้เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการฝึกซ้อมนานาชาติ Cyber Flag 23 ประจำปี ที่จัดขึ้นโดย US Cyber Command ระหว่างวันที่24 – 28 ต.ค.65 ที่สหรัฐฯ โดยมี 25 ประเทศเข้าร่วม
US Cyber Command ได้จัดการฝึกซ้อมนานาชาติ Cyber Flag มาตั้งแต่ปี2011(พ.ศ.2554) โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตร ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจคือ
1. เป็นการซ้อมรบทางไซเบอร์แบบเผชิญหน้า Red-Blue ที่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ และสร้างความร่วมมือทางไซเบอร์ที่มีเสถียรภาพและใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรคล้ายกับ Cyber Offensive and Defensive Exercise ที่จัดโดยสหรัฐฯ ในภูมิภาคไต้หวันของจีน เมื่อปี 2019 (พ.ศ.2562)
2. เป็นปฏิบัติการทางไซเบอร์ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการปฏิบัติการทางทหารของ NATO ซึ่งกำลังแทรกธงไซเบอร์ในเอเชีย อันเป็นความตั้งใจของประเทศที่เข้าร่วมต่อปฏิบัติการทางไซเบอร์ที่นำโดยสหรัฐฯ อย่างสมบูรณ์
3. เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับสงครามครั้งต่อไปในโลกไซเบอร์ ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน กล่าวในการแถลงนโยบาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กองทัพสหรัฐได้ทำสงครามไซเบอร์เหนือสงครามแบบดั้งเดิมแล้ว ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในการ “สร้างสมดุลนอกชายฝั่ง” โดยช่วยให้สหรัฐฯ เริ่มทำสงครามตัวแทนในขณะที่สามารถรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ การโจมตีและการป้องกันทางไซเบอร์ได้กลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรงและซับซ้อน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์มีความสำคัญต่อการเป็นป้อมปราการเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องได้รับการปกป้องอย่างดีจากทุกประเทศ โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯ เพิ่งเปิดตัวยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติปี 2022 ที่ระบุว่า จีนเป็นความท้าทายทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสหรัฐฯ และตอนนี้กำลังมุ่งเน้นไปที่สงครามไซเบอร์ จึงนำไปสู่ความพยายามขยาย NATO ไปยังเอเชีย
ดังนั้น จีนจะต้องเพิ่มขีดความสามารถโดยรวมในการป้องกันทางไซเบอร์ รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่สมจริงสำหรับการรุกและการป้องกันทางไซเบอร์ ตลอดจนเตรียมพร้อมมากขึ้นสำหรับการต่อสู้จริง รวมถึงมีหลายสิ่งที่จีนต้องทำโดยเฉพาะจากการที่มีมหาอำนาจด้านไอทีได้เข้าร่วมปฏิบัติการทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ อาทิ เกาหลีใต้ซึ่งไม่เพียงแต่แข็งแกร่งในด้านไอที แต่ยังเป็นผู้ผลิตชิปที่สำคัญของโลกด้วย ซึ่งจีนต้องระวังแนวโน้มในปัจจุบันและผลกระทบที่มีต่อสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ กำลังย้ายจุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์โดยปรับกองกำลังทหารไปยังอินโด–แปซิฟิกมากขึ้น และสงครามไซเบอร์ของสหรัฐฯ ก็ถูกเปลี่ยนทิศทางใหม่ไปยังภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน
สรุปโดย พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://eng.chinamil.com.cn/view/2022-10/28/content_10195532.htm )