จีนศึกษา๑๔๗ จีนขุดพลังงานน้ำแข็งที่ติดไฟได้
ความหวังต่อแหล่งพลังงานใหม่ จากการที่สำนักธรณีวิทยาของจีน ได้ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ถึงความสำเร็จในการขุดและนำก๊าซมีเทนจากมีเทนไฮเดรต (Methane Gas Hydrate) หรือน้ำแข็งที่ติดไฟได้ (可燃冰) ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในรูปของแข็งที่สามารถติดไฟได้ ขึ้นมาจากบริเวณเสิ่นหู ในทะเลจีนใต้ โดยจุดที่ขุดลึกลงไปใต้ทะเล ๑,๒๖๖เมตร ห่างจากฮ่องกง ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว ๒๘๕ กม. หลังจากจีนสำรวจพบในทะเลจีนใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๐ และพบว่า พื้นที่ในน่านน้ำของจีน อุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากรน้ำแข็งที่ติดไฟได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งน้ำแข็งที่ติดไฟได้ ปริมาณ ๑ ลูกบาศก์เมตร สามารถปล่อยก๊าซธรรมชาติได้มากกว่า ๑๖๐ ลูกบาศก์เมตร และคาดว่าจะสามารถขุดน้ำแข็งที่ติดไฟได้ดังกล่าวขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ในปี ค.ศ.๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) โดยจะสามารถเป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่ทดแทนก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ในอนาคต
ทั้งนี้ มีรายงานได้ระบุว่า นักวิจัยจีนบนศูนย์ปฏิบัติการลอยน้ำในทะเลจีนใต้ ได้ทำการสกัดก๊าซออกจาก “น้ำแข็งที่ติดไฟได้” หรือมีเทนไฮเดรต ซึ่งเป็นสารที่ประกอบด้วยมีเทนในรูปผลึกโครงสร้างคล้ายน้ำแข็งแห้งได้เป็นผลสำเร็จ โดยมีข้อเปรียบเทียบว่า รถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสามารถวิ่งได้ ๓๐๐ กิโลเมตร โดยเติมก๊าซธรรมชาติครั้งละ ๑๐๐ ลิตรแต่ถ้าเติมน้ำแข็งที่ติดไฟได้ในปริมาตรเท่าเดิม รถยนต์จะสามารถวิ่งได้ถึง ๕๐,๐๐๐ กิโลเมตร
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://stdaily.com/index/toutiao/2017-05/18/content_544916.shtml และเว็บไซต์ https://www.cgs.gov.cn/xwl/ddyw/201705/t20170518_429864.html )