ตอนที่ 1 ฝันเป็นจริงแล้ว ลุงป้อมไฟเขียว 30 ล้านบาท สำรวจ – ออกแบบ “สะพานปากนาย”
3 อำเภอน่านใต้กระหึ่ม “ลุงป้อม” ไฟเขียว 30 ล้านบาทให้ทำ EIA สะพานปากนาย ก่อน 2 ปีลงมือก่อสร้างข้ามอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิตติ์ ระยะ 3.4 ก.ม. มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจได้มหาศาล Loop ใหม่ น่าน – อุตรดิตถ์ – อีสาน รวมถึงการค้าชายแดนสปป.ลาว
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 4 เมษายน 2565 นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นำคณะหน่วยงานท้องที่ – ท้องถิ่น นำโดยนางสาวศิริพร กันธิยะ นายอำเภอนาหมื่น นายบัณฑิตฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน นายกิตกานต์ อินอัญญะ รองผอ.แขวงทางหลวงน่านที่ 1 นายสกล เนตรใสวรกุล นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจ.น่าน
พร้อมด้วยผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดยนายศรีรุ่ง รัตนศิลาประธานหอการค้าจ.น่าน นายสักก์สีห์ พลสันติกุล รองประธานหอการค้าจ.น่าน นายสุชาติพัฒนศิษฎางกูล อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจ.น่าน และนายชาญชัย ลิ้มสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจ.น่าน
พากันขึ้นแพขนานยนต์ ข้ามฟากอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ จากฝั่งหมู่บ้านประมงปากนายต.นาทะนุง อ.นาหมื่น ขึ้นบกไปสมทบกับคณะเจ้าหน้าที่ต่างๆ ของ จ.อุตรดิตถ์ นำโดยนายผลดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ และนายบัณฑิต รักษาดี ผู้อำนวยการทางหลวงที่ 2 อุตรดิตถ์ ฯลฯ
โดยมีกำหนดต้อนรับคณะของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มาติดตามโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาค ผาเวียง – ปากนาย เบื้องต้นทั้งสองจังหวัดมีความเห็นตรงกันต้องการให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ – การคมนาคม และพัฒนาอาชีพด้วยการท่องเที่ยว
ต่อมา พลเอกประวิตรเดินทางมาถึงบริเวณ view point และนายบัณฑิต ผู้อำนวยการทางหลวงที่ 2 อุตรดิตถ์ บรรยายสรุปว่า สะพานดังกล่าวเคยมีการศึกษาความเหมาะสมมาตั้งแต่ปี 2552 ขณะนั้นมีมูลค่า 800 กว่าล้านบาท แต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจยังไม่คุ้มค่าจึงยังไม่ให้สร้าง
สะพานดังกล่าว จะมีความยาว 3.4 กิโลเมตร สร้างขึันระหว่างเกาะของทั้งสองฝั่ง โดยจะใช้บล็อกต่อกันและร้อยด้วยลวดสลิง ปัญหาคือการออกแบบต้องให้มีตอม่อลงน้ำให้น้อยที่สุด เพื่อรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ล่าสุด กรมทางหลวงได้มาสำรวจเศรษฐกิจระหว่างชายแดนภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ ระยะทางประมาณ130 กิโลเมตร และด่านสากลห้วยโก๋น จ.น่านมาถึงจุดก่อสร้างนี้ 230 กิโลเมตร ปัจจุบันปี2566 กรมทางหลวงได้เสนอก่อสร้างด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจ้างออกแบบและทำ EIA หากผ่านแล้ว ตามขั้นตอนจะเสนอขอคณะกรรมการ สผ. หรือคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาอนุมัติและเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาอีกที
โดยคาดการณ์ปีงบประมาณ 2569 จะมีการตั้งงบฯ เพื่อก่อสร้างขณะนั้นอาจจะเป็น 1,000 กว่าล้านบาท หลังจากนั้นพลเอกประวิตร ได้ถามย้ำถึงระยะความยาวของสะพาน และกล่าวติดตลกสั้นๆ ด้วยว่า ควรให้ดำเนินการต่อไป “ปากนายนี่ก็ดีเหมือนกันนะ“
รายงานข่าวแจ้งว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) หรือ EIA หมายถึงการประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนา ที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจนิยามได้ว่าเป็น “กระบวนการเพื่อการบ่งชี้ ทำนายประเมิน และบรรเทาผลกระทบทางชีวกายภาพ สังคม และผลกระทบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มีต่อข้อเสนอการพัฒนาใดๆ ก่อนที่จะตัดสินใจให้ลงมือดำเนินได้”
วัตถุประสงค์ของการประเมินก็เพื่อให้เป็นการประกันได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ถึงผลกระทบของโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนทำการอนุมัติให้ดำเนินโครงการที่มีผู้ขออนุญาตดำเนินการ ทั้งนี้ เบื้องต้นคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติให้ทำ EIA มูลค่า 30 ล้านบาทในปี 2566 นี้แล้ว
ขณะที่นายวิบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการก่อสร้างสะพานปากนายนี้พี่น้องประชาชนทั้งจ.น่านและอุตรดิตถ์ได้เรียกร้องมาในอดีตตั้งแต่ปี 2552 ผ่านมา 13 ปีแล้วเนื่องจากการสำรวจโดยกรมทางหลวงบอกว่ายังไม่มีความคุ้มค่า การสัญจรและการค้าชายแดนของเรายังน้อย แต่ ณ วันนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว การค้าขายชายแดนและเศรษฐกิจมีมูลค่าสูงขึ้น ถ้าสามารถเปิดเส้นทางนี้ได้ จะเปิดพื้นที่ทางโซนใต้ได้ทั้ง 3 อำเภอ มีประชาชน 1 แสนกว่าคน กับ 4 อำเภอชายแดนลาวของจ.อุตรดิตถ์อีก 1 แสนกว่าคน
“พี่น้อง 7 อำเภอของ 3 จังหวัดนี้ จะเดินทางไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้น ลดค่าใช้จ่ายเดินทางไม่ต้องอ้อม นอกนั้นก็เป็นการเปิดเส้นทางในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย เชื่อมระหว่างโซนเหนือของน่านที่จะเดินทางผ่านเส้นทางนี้ไปยังภาคอีสาน เพราะฉะนั้นจะก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่และเศรษฐกิจอย่างมีมูลค่ามหาศาลในอนาคต” ผู้ว่าฯ น่านระบุและว่า การเดินทางมาต้อนรับคณะรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เพื่อยืนยันกับชาวอุตรดิตถ์ว่า จ.น่านพร้อมที่จะร่วมมือช่วยกันผลักดันให้เกิดเส้นทางนี้ขึ้นมาให้ได้
ความคืบหน้า เพจ peamsak pattayakul จะรายงานให้ทราบต่อไป