ทอ.ยืนยันการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสิ่งที่ต้องการ
และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากองทัพไทย และประเทศชาติ
วันที่ 11 มีนาคม 2565 พลอากาศตรี ประภาสสอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศเปิดเผยถึงความคืบหน้าในเรื่องการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน เพื่อรองรับภารกิจการบินรบในอากาศ และการโจมตีทางอากาศนั้น
โดยคณะกรรมการได้ศึกษาและจัดทำความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ได้กำหนด รายละเอียด ดังนี้
1. ต้องให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศไทยในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จำนวนที่เหมาะสมเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สำคัญและส่งเสริมการพัฒนาประเทศในภาพรวม
2. บุคลากรของกองทัพอากาศควรได้เข้าไปมีส่วนร่วม ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Offset Scholarship) เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีขีดความสามารถในการทดสอบการใช้งาน การ ติดตามผลการใช้งาน ได้อย่างต่อเนื่องและการรับรองมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีในส่วนของการออกแบบอากาศยานที่สามารถซ่อนพรางจากการตรวจจับด้วยสัญญาณเรดาร์ (Stealth) ทั้งในส่วน การออกแบบอากาศยาน(Aircraft Design) การออกแบบพื้นผิววัสดุของอากาศยาน (Material Design) และการซ่อมบำรุงการซ่อมพราง
4. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประยุกต์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในระบบบัญชาการ และควบคุมในการพิจารณาภัยคุกคาม (Threat Assessment & Analysis) เพื่อให้ระบบบัญชาการและควบคุม มีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านงานส่งกำลังบำรุงแบบบูรณาการ ในการติดตามระบบส่งกำลังบำรุงระบบการจัดการ การซ่อมบำรุงพัสดุ ในแบบ Realtime และสามารถนำมาพิจารณาแนวโน้มความต้องการพัสดุอุปกรณ์ ในการซ่อมบำรุงรักษาได้
6.การถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านการบินทดสอบอากาศยานที่ทันสมัยและการบินทดสอบอากาศยานไร้คนขับ ในลักษณะ Manned-Unmanned Teaming (MUM-T) ให้แก่นักบินของกองทัพอากาศ ซึ่งทำหน้าที่ทดสอบสมรรถนะหรือการทำงานของอากาศยาน
7. การถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ ในด้านวิเคราะห์และเลือกใช้อาวุธ (Target Weaponeering)
8. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Warfare) รวมถึงการได้รับการเข้าถึงบัญชีความถี่ (EW Library)
โฆษกกองทัพอากาศยังได้กล่าวต่ออีกว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีเบื้องต้นที่ควรได้รับจากการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนนั้น ในเรื่องของความชัดเจนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยกองทัพอากาศยังคงยืนยันเจตนารมณ์เช่นเดิม ในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่การดำเนินการที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดทั้งหมดจะอยู่ในขั้นตอนต่อไป ภายหลังจากการเจรจากับประเทศผู้ขายอย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่กองทัพอากาศสนใจ จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นเป็นเทคโนโลยีทางทหารชั้นสูง มีชั้น ความลับกำกับ ถือเป็น Military Know how (ที่สร้างความได้เปรียบในการรบสมัยใหม่) จึงต้องถูกควบคุมจากประเทศผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศผู้ผลิต
อย่างไรก็ตามกองทัพอากาศขอยืนยันว่าเรามีความชัดเจน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในสิ่งที่เราต้องการ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากองทัพไทย และประเทศชาติในระยะยาวแน่นอน