พรรคประชาชาติ ส่งเสริมวัฒนธรรมมลายู มอบรางวัล การประกวดภาพถ่ายชุดมลายูในวันฮารีรายอ
‘วันนอร์’ ปลื้มทุกคนแต่งชุดมลายูทุกหมู่บ้าน ‘ทวี’ ย้ำต้องส่งเสริมภาษามลายูที่ใช้ในประชาคมอาเซียนส่วนใหญ่
ที่หอประชุมมูลนิธิมะทา อ.เมือง จ.ยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติพร้อมด้วย พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส เขต 3 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4 นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา เขต 2 นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา เขต 3 นายมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ รองโฆษกพรรคประชาชาติ และคณะ ร่วมกิจกรรมมอบรางวัล การประกวดภาพถ่ายชุดมลายูในวันฮารีรายอ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม ‘NEXT GEN คนรุ่นต่อไป’ ซึ่งมีเยาวชนมาร่วมกิจกรรมพร้อมกับครอบครัวจำนวนมาก
ภายในงานมีการแสดงร้องเพลงอะนาชีดโดยศิลปิน WSEAM มีการแสดง Silat Harimau สุดเซอร์ไพรส์ และร่วมกันร้องเพลงสุขสันต์วันฮารีรายอในบรรยากาศที่แสนอบอุ่น โดยผู้ร่วมงานทุกคนสวมใส่ชุดมลายู อันเป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของคนมลายูในภาคใต้และกิจกรรมสำคัญคือการประกาศรางวัลภาพถ่ายจำนวน 10 ภาพ ซึ่งมีผู้ส่งประกวดกว่า 380 ภาพ แบ่งเป็นรางวัลประเภทครอบครัวสุขสันต์ รางวัลครอบครัวสนุกสนานเฮฮา รางวัลมลายูคลาสสิค รางวัลเยาวชนมลายู และรางวัลยอดไลค์สูงสุด โดยท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ร่วมมอบรางวัลให้ รางวัลละ 2,000 บาท
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การแต่งกายชุดมลายูในวันรายอนั้น เพราะวันรายอเป็นวันสำคัญของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก ในทุกภาคทุกภาษาเขาก็แต่งกายชุดวัฒนธรรมในวันสำคัญของศาสนา เราในฐานะชาติพันธ์มลายูในพื้นที่นี้ การแต่งก่ายมลายูที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่อดีตมา โดยเฉพาะในวันสำคัญ เพื่อไม่ให้การแต่งกายชุดมลายูที่บรรพบุรุษเราได้มอบให้ ไม่ให้หายไปจากโลกนี้ ปีนี้มองแล้วปลาบปลื้มใจที่พี่น้องประชาชนแต่งกายชุดมลายูทุกหมู่บ้าน ทุกๆมัสยิดและรวมกลุ่มกัน 3-4 วัน ต้องการที่จะรักษาวัฒนธรรมของเราให้สืบไปจนถึงลูกหลานของเรา
ด้าน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ต้องขอร่วมแสดงความยินดีกับพี่น้องในพื้นที่ ที่ได้ปฏิบัติกิจทางศาสนาในเดือนรอมฎอน ที่ทุกคนได้พากเพียรอดทนปฏิบัติศาสนกิจที่ยิ่งใหญ่และบรรลุเป้าหมายอย่างสมบูรณ์ ในวันรายออิดิลฟิตรี ที่ทุกสมาชิกในครอบครัวกลับมาอยู่รวมกันแสดงความรักและผูกพันและได้มาร่วมเฉลิมฉลองซึ่งถือเป็นวันครอบครัวในบรรยากาศที่สุขสันต์
จากคำถามว่ามีแนวทางการพัฒนาภาษามลายูอย่างไรนั้น พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กล่าวว่าต้องเรียนว่า การเปลี่ยนแปลง คือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่เกิดขึ้น ประเทศในประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ จำนวนประชากรส่วนใหญ่อยู่ในเป็นประเทศในคาบสมุทรมลายูที่ภาษาราชการและภาษาในการทำงานเป็นภาษามลายู ประเทศไทยมีพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พี่น้องประชาชนใช้ภาษามลายูและพูดภาษามลายูเช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ในประชาคมอาเซียน สิ่งหนึ่งที่รัฐจำเป็นต้องส่งเสริมก็คือภาษามลายู ความจริงเรามีความเข้มแข็งภาษามลายูมาโดยตลอด แต่พอมาประมาณ 50 กว่าปี ที่แล้วคือสมัยที่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ปฏิวัติ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้หยุดยั้งและสกัดกั้นภาษามลายู ต่อมาสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม พ.ศ.2511 ได้ออกกฎให้ปอเนาะที่จดทะเบียนแล้วทุกแห่งต้องหยุดการสอนภาษามลายู จนถึงปลายปี 2514 ได้มีการนำภาษาไทยไปแทนที่ภาษามลายู ต่อจากนั้นรัฐบาลได้ยกเลิกการศึกษาภาษามลายูในโรงเรียนชั้นประถม และห้ามหนังสือมลายูเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย จึงทำให้ภาษามลายูเรา เหมือนอยู่หยุดนิ่ง ต้องขอบคุณ ทางผู้นำศาสนา โต๊ะครูโต๊ะอิหม่าม และอุสตาส ที่พยายามรักษาโดยเฉพาะการนำภาษามลายูไปสอนในสถาบันการศึกษาในสถาบันปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จนวันนี้พอเข้าสู้ประชาคมอาเซียน สิ่งที่จะไปบังคับห้ามภาษามลายูไม่ได้แล้ว เพราะประชาคมอาเซียนใช้ภาษามลายูเป็นส่วนใหญ่ ความจริงแล้วภาษาก็ดี วัฒนธรรมก็ดี และศาสนา จะต้องเป็นสมบัติร่วมกันของทุกคน จะต้องไม่มีพรมแดน และจะต้องไม่มีเจ้าของ แต่ต้องรักษา ส่งเสริม พัฒนาการและสนับสนุน อยากจะฝากพี่น้องที่เป็นมลายูแม้ภาษามลายูเป็นภาษาของท่านที่ท่านต้องภูมิใจ แต่ท่านต้องไม่หวงแหนใช้เฉพาะคนมลายูเท่านั้น แต่ถ้าคนในประเทศไทยได้ใช้ภาษามลายู พวกเราก็ควรจะดีใจและเป็นภาษาของทุกคนในประเทศไทย วันนี้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนสิ่งหนึ่งที่สามารถใช้ในการสื่อสาร เข้าไปค้าขาย เข้าไปพัฒนาได้คือภาษามลายู ดังนั้นสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่งคือในระบบการเรียนการสอนภาษาที่ประชาชนในพื้นที่มีความพร้อมอยู่แล้ว รัฐเพียงแค่ส่งเสริมสนับสนุน ไม่จำเป็นต้องมาครอบงำเป็นอุปสรรคในการพัฒนา เรื่องภาษามลายู
เราถูกรัฐหยุดยั้งมานานมันจะต้องมีการพัฒนา ศึกษา และอยากจะฝากแม้เรามีความภูมิใจภาษามลายูถิ่น ตัวอักษรยาวีที่เป็นต้นกำเนิดในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม แต่เราก็ต้องพัฒนาเป็นมลายูกลางที่ประชาคมอาเซียนใช้รวมกันคู่ขนานไปด้วยซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ทั้งสองสิ่ง ไปด้วยกันได้ ผมคิดว่าวันนี้ไม่มีใคร จะห้ามภาษามลายูได้แล้ว พอนายกรัฐมนตรีมาเลเซียบอกว่า ภาษามลายูควรจะเป็นภาษาที่สองของอาเซียนก็จำเป็นต่อไปนี้ ไม่ใช่คนมลายูอย่างเดียว คนทั้งประชาคมอาเซียนต้องมาศึกษาเรียนรู้ภาษามลายู เพราะถ้าคุณไม่มีภาษาคุณจะอ่านหนังสือไม่ได้ คุณก็ไม่สามารถจะพูดกันได้ ที่สำคัญเราต้องทำมาค้าขาย เราต้องมาอยู่ร่วมกัน อันนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อาจจะเป็น ศักราชของการเปิดภาษาลายู แล้วก็เป็นความโชคดีของประเทศไทยที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพี่น้องมลายู และมีภาษามลายูเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าจะทำให้เป็นโอกาสและเป็นสิ่งท้าทายที่จะนำมาสู่ความเจริญให้ประเทศต่อไป