ศาสนา-ศิลปวัฒนธรรม

ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการ พร้อมคณะจาก สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐ (Bodhigayavijjalaya 980 Institute, India) ร่วมพิธีบวงสรวงจัดสร้างมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ

เชิญชวนศาสนิกชนร่วมสักการบูชา #เพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างสูงสุดในชีวิต

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 07.07 . มณฑลพิธีท้องสนามหลวง นายเสริมศักดิ์พงษ์พานิช รัฐมนตรี

ว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในพิธีบวงสรวงจัดสร้างมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว

ประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 19 มีนาคม 2567 โดยมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ

เป็นพราหมณ์ประกอบพิธีบวงสรวง นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี

มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคล

เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับรัฐบาลอินเดีย

กระทรวงวัฒนธรรมอินเดีย สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ดำเนินงานโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ โดยการดำเนินการในครั้งนี้

สืบเนื่องมาจากโครงการธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุจากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขงโดยอัญเชิญ

พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์กรุงนิวเดลี  ซึ่งได้รับการขุดพบจากสถูปโบราณ เมืองปิปราห์วา ซึ่งสันนิษฐาน

ว่าเป็นที่ตั้งของเมืองกรุงกบิลพัสดุ์ในสมัยพุทธกาล มีหลักฐานเป็นจารึกอักษรพราหมีบนผอบ แปลว่าที่บรรจุ

พระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของสากยราชสุกิติ กับพระภาตา พร้อมทั้งพระภิคินี พระโอรสและพระชายา

สร้างขึ้นอุทิศถวาย  ส่วนพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวก พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ อัญเชิญมาจากสถูปเมืองสาญจี บรรจุในผอบซึ่งมีจารึกอักษรพราหมีว่าสาริปุตสแปลว่า (พระธาตุ) ของพระสารีบุตร และมหาโมคลานสแปลว่า (พระธาตุ) ของพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ

ของพระอัครสาวกทั้งสอง  และนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ

มาประดิษฐานให้ศาสนิกชนได้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างสูงสุดในชีวิตในระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์

ถึง 19 มีนาคม 2567 มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่อุบลราชธานี และกระบี่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวความคิดในการออกแบบมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะฯ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

นั้น ออกแบบโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร รูปแบบสถาปัตยกรรมเลือกใช้รูปแบบอาคารแบบมณฑป

ซึ่งเป็นอาคารเครื่องยอดที่มีฐานานุศักดิ์ อาคารสูงสุดในงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ลักษณะของมณฑปมีผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางด้านทิศเหนือมีบันไดขึ้นลง 3 ด้าน ยกเว้นด้านหลัง อาคารยกฐานสูง โดยชั้นแรกยกพื้นเป็นฐานชาลา เดินได้รอบอาคาร กึ่งกลางตั้งมณฑปยกพื้นมีบันไดขึ้นลง 3 ด้าน ทำประตูเข้าออก ด้านตามแนวบันได ผนังเป็นกระจก ติดตั้งผ้าม่านเพื่อกรองแสงเข้าสู่ภายในอาคารทั้ง 3 ด้าน ผนังด้านหลังทึบ กรุเป็นช่องลูกฟัก ส่วนยอดอาคารเป็นยอดมณฑป 3 ชั้นเชิงกลอน เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์ ต่อด้วยบัวกลุ่ม 5 ชั้น ปลียอด เหนือสุดเป็นเม็ดน้ำค้างตามแบบไทยประเพณี ภายในอาคารทำฝ้าเพดานติดตั้งดาวเพดาน และดวงโคมให้แสงสว่างภายในอาคาร ติดตั้งระบบปรับอากาศ และระบบควบคุมความชื้นเพื่อความคุมอุณหภูมิและความชื้นภายในอาคาร ในส่วนการประดับตกแต่งลวดลายขององค์ประกอบสถาปัตยกรรมในส่วนต่างๆ จะเป็นรูปแบบลายซ้อนไม้ ตกแต่งด้วยการทาสีเป็นหลัก

ส่วนองค์ประกอบที่ปกติจะใช้การปิดทองจะเปลี่ยนเป็นการทาสีทองเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานอาคาร และยังจัดทำผอบทรงเจดีย์ลวดลายแบบไทยประเพณีสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร อีกด้วย

สำหรับในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.00 . มณฑลพิธีท้องสนามหลวงรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม

ได้จัดริ้วขบวนอัญเชิญอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา โดยจัดเป็นขบวนอัญเชิญธงชาติไทยอินเดีย ธงธรรมจักร

และธงฉัพพรรณรังสี ขบวนโคมประทีปและโคมดอกบัว รถบุปพชาติประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ  ขบวนเฉลิมพระเกียรติ  ขบวนชุดประจำชาติไทยและอินเดีย และในเวลา 17.00 . จะมีพิธีเปิดงาน และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ หลังจากนั้น จะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะบูชา ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม2567 เวลา 09.00 – 20.00 . จากนั้นอัญเชิญไปประดิษฐานในส่วนภูมิภาคใน 3 จังหวัด ให้ประชาชนได้เข้าสักการะบูชา ได้แก่ ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 5 – 8 มีนาคม2567 เวลา 09.00 – 20.00 . หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 10 – 13 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 . วัดมหาวนาราม

จังหวัดอุบลราชธานี และภาคใต้ ระหว่างวันที่ 15 – 18 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 . วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ โดยเวลา 17.00 . เป็นต้นไป แต่ละพื้นที่จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างยิ่งใหญ่ และจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชนที่เข้ากราบสักการะด้วย

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จึงขอเชิญชวนศาสนิกชนร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ด้วยการนำหลักธรรม ความเชื่อของศาสนา มาปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญ

ในการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านศาสนาและส่งเสริมคุณธรรมของประชาคมโลกเพื่อสร้างความสงบสุขแก่มวลมนุษยชาติสืบไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า