บรรจง นะแส โวยคดีบุกรุกโบราณสถานเขาแดงไร้ความคืบหน้า เตรียมดึงดีเอสไอเข้ามาทำคดีแทน พร้อมเสนอ ปปง.พิจารณายึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้อง
หลังประเมินเบื้องต้นมูลค่าความเสียหายในคราวนี้เกือบ 50 ล้าน ในขณะที่มีการลอบขุดดินรอบเขาแดงมานานหลายปี คดีก่อนหน้า 12 คดี เงียบหาย ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่น กลไกลรัฐเกรงกลัวอำนาจนักการเมืองหรือไม่
เมื่อวันที่ 23 มีนาคมนี้ว่า คดีการบุกรุกโบราณสถานเขาแดง และ โบราณสถานเขาน้อย ผ่านพ้นมาแล้วกว่า 1 เดือน แต่คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก แม้จะอยู่ในความสนใจของประชาชนและสาธารณะ ซึ่งนายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ที่ได้ออกมาร่วมขับเคลื่อนเพื่อปกป้องโบราณสถานที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 1400 ปี ได้ออกมาเรียกร้องให้ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาและผู้ว่าราชการจังหวัด ออกมาแถลงถึงความคืบหน้าทางคดี เพราะภาคประชาชนมองว่าไร้ความคืบหน้า และเกรงจะหายเงียบไปอีกครั้ง
นายบรรจง กล่าวว่า จากการติดตามตรวจสอบคดีการบุกรุกโบราณสถานเขาแดง และ โบราณสถานเขาน้อย นั้น พบว่า ก่อนหน้านี้หลายปีก็มีการแจ้งความดำเนินคดีเอาไว้รวม 12 คดี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการสั่งไม่ฟ้องคดีบ้าง เงียบหายไปบ้าง และไม่ต้องการเห็นคดีนี้เงียบหายไป แม้จะมีผู้ก่อเหตุเข้ารายงานตัวตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนแล้ว 3 ราย ใน 2 คดี โดยมองว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ ควรจะต้องเข้ามาทำคดีนี้ หลังปล่อยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำงานมานานกว่า 1 เดือน และยังประเมินว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกนานนับเดือน นอกจากนั้นแล้วกฎหมาย ปปง.ก็น่าจะมีความเหมาะสมที่จะเข้าใช้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ เพราะมีความเสียหายเกิดขึ้น เฉพาะในครั้งนี้เกือบ 50 ล้านบาท แล้วยังมีก่อนหน้านี้อีก
โดยยืนยันว่า ไม่ใช่เฉพาะภาคประชาชน แต่ประชาชนทั่วไปไม่มีความเชื่อมั่น และอยากให้มีการพิสูจน์ว่า กลไกอำนาจรัฐอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆหรือไม่
สำหรับโบราณสถานเขาน้อย กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเมื่อพ.ศ.2529 และพ.ศ.2535 กำหนดเขตโบราณสถานครอบคลุมเขาน้อยและปริมณฑลโดยรอบ20 เมตร พื้นที่ 36 ไร่ โบราณสถาน เขาน้อยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาแดง บนยอดเขามีฐานเจดีย์ขนาดประมาณ 20 คูณ 20 มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบหลักฐานที่แสดงถึงวัฒนธรรมอินเดียที่แพร่เข้ามาเมื่อกว่า 1400 ปี มาแล้ว และพบหลักฐานสมัยอยุธยาที่มีการดัดแปลงศาสนสถานเป็นรูปแบบของศิลปะอยุธยา เขาน้อยเป็นสถานที่สำคัญปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้แก่แผนที่เมืองนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2158 และแผนที่ฝรั่งเศส พ.ศ. 2230
ส่วนโบราณสถานหัวเขาแดง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ. 2535 ในเนื้อที่ 2460 ไร่ โบราณสถานหัวเขาแดงเป็นที่ตั้งเมืองสงขลายุคแรกตามเอกสารฮอลันดาเมื่อ พ.ศ. 2155 สมัยอยุธยาและ เขาแดงยังเป็นป้อมปราการตามธรรมชาติที่แข็งแกร่งปกป้องเมืองทั้งจากภัยธรรมชาติและข้าศึก