ดร.นิยม เวชกามา” รับหนังสือร้องเรียนให้นายกรัฐมนตรีทบทวนรับรอง พ.ร.บ.ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย
จากเครือข่ายชมรมรวมใจภักดิ์ ถึงมือ “ชวน หลีกภัย“แล้ว“ลั่นเป็นเด็กวัดเหมือนกัน”
ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม รับยื่นหนังสือจาก ม.ร.ว.จิราคม กิติยากร ประธานเครือข่ายชมรมรวมใจภักดิ์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวน รับรอง พ.ร.บ.ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย ด้วยเครือข่ายชมรมรวมใจภักดิ์ได้มีมติร่วมกันเรื่องว่าด้วยความเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญและการแก้ไขปัญหาพุทธศาสนาอย่างยั่งยืนด้วยหลักความเสมอภาคภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยหลัก “ความเสมอภาค” หลักการนี้ได้รับ การบัญญัติได้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 3 คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน แต่นายกรัฐมนตรีมีบัญชาไม่รับรองพ.ร.บ.ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย เพราะเป็นกฎหมายทางการเงินซึ่งทางชมรมได้นำเรื่องนี้เข้าหารือกันแล้ว เห็นควรว่าควรนำความเข้ามาหารือเพื่อทบทวน ซึ่งในความจำเป็นในการผลักดัน พ.ร.บ.ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นพ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน แต่ก็ใช้จำนวนเงินไม่มาก จากหลักเกณฑ์ความเสมอภาค ในบางศาสนา ได้มี พ.ร.บ.ธนาคารจากศาสนาอื่นในประเทศไทยบ้างแล้ว สำหรับประชาชนปวงชนชาวไทยหมู่มากที่นับถือพระพุทธศาสนากว่าร้อยละ 95 จึงขอให้คณะ กมธ.นำเรื่องดังกล่าวนี้ให้นายกรัฐมนตรี ทบทวนอนุมัติรับรองอีกครั้ง เพื่อความเท่าเทียมและสร้างประโยชน์สุขแก่มวลประชาชนสืบไป
ดร.นิยม เวชกามา กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือ ว่า จะนำเรื่องดังกล่าว เรียนประธานคณะ กมธ. เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา เรื่องดังกล่าวต่อไป
ในเวลาต่อมา ม.ร.ว.จิราคม กิติยากร ประธานเครือข่ายชมรมรวมใจภักดิ์ พร้อมด้วยม.ล.สัญชัย ทองแถม ม.ล.กานตพงศ์ วรวุฒิ และ ดร.นิยม เวชกามา ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร
โดย ม.ร.ว.จิราคม กล่าวว่า จากที่ได้เคยยื่นหนังสือเพื่อเสนอ พ.ร.บ. ต่อคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ เมื่อ 20 ก.พ. 2563 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1.) ร่างพ.ร.บ.การบริหารองค์กรพุทธศาสนา 2.) ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย 3.) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการสังเวชนียสถาน ซึ่งทราบข้อมูลล่าสุดว่าได้พิจารณายกร่างเป็นที่สำเร็จและมี ส.ส. ในรัฐสภาที่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้เข้าชื่อจำนวน ส.ส.มากกว่า 20 คนต่อรัฐสภา ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการรับแสดงความคิดเห็นตาม ม.77 มาแล้ว และได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากรัฐสภาถึงสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ นายกรัฐมนตรีลงนาม ด้วยเป็น พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน แต่เป็นที่น่าตกใจว่า หนังสือด่วนที่สุด ที่ นร.0404/6950 ลงวันที่23 พ.ค. 2565 เป็นหนังสือจากเลขานุการนายกรัฐมนตรี ถึง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
โดยมีสาระสำคัญในจดหมายระบุว่า
“นายกรัฐมนตรี มีบัญชาไม่รับรองพระราชบัญญัติ ธนาคารพุทธแห่งประเทศไทย” ตนจึงได้ทำหนังสือทักท้วงเพื่อขอให้นำไปพิจารณาอีกครั้ง ด้วยเป็นสิ่งที่สำคัญต่อประชาชนคนไทย ที่จะแสดงถึงความเสมอภาค ตามมาตรา 30 คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน อีกทั้งยังเป็นการให้เกียรติชาวไทยพุทธที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ทำให้ชาติไทยเป็นไทยจนถึงปัจจุบันและเป็นที่รู้จักในนามประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ตนจึงขอให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีทบทวน พ.ร.บ.ธนาคารพุทธศาสนา อีกครั้งด้วยเพราะต่างศาสนาก็มี พ.ร.บ.ธนาคาร ศาสนาของเขาแล้ว ชาวไทยพุทธก็ควรมี พ.ร.บ.พุทธศาสนา อันเป็นความเสมอภาคตามกรอบรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายชวน หลีกภัย ได้รับหนังสือแล้ว ได้กล่าวกับกลุ่มผู้มายื่นหนังสือร้องเรียนว่าจะนำไปเสนอตามขั้นตอนต่อไปพร้อมกล่าวอีกว่า ตนก็เป็นเด็กวัดเหมือนกัน