“ทวี สอดส่อง” ชี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 ระบุอำนาจหน้าที่พลพรรคสีกากี แต่หลงลืม “ดูแลประชาชน”
ขอเพิ่มเป้าประสงค์ให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและบำบัดทุกข์บำรุงสุขชาวบ้าน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…. ตอนหนึ่งว่า ได้สงวนความเห็นไว้ในมาตรา 6 เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากมาตรา 6 ในร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการนิติบุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจดังนี้…
การพูดถึงหน้าที่และอำนาจหมายถึงการแสดงถึงเป้าประสงค์และวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะตำรวจมีบทบาททั้งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นหน่วยย่อยของกระบวนการยุติธรรม เป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อย ดังนั้นการที่จะทำให้ตำรวจได้รับการยอมรับ จำเป็นต้องมีเป้าประสงค์และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มิฉะนั้นงานตำรวจจะอยู่บนความขัดแย้งอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
“ต้องยอมรับว่า ในมาตรา 6 ที่คณะกรรมาธิการฯเสียงส่วนใหญ่แก้ไขนั้น โดยรวมแล้วก็พอไปได้ คือ 1.หน้าที่และอำนาจของตำรวจ ก็คือการรักษาความปลอดภัย สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ 2.ดูแลควบคุมงานและกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 3.ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดอาญา”
“4.รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร 5.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 6.การช่วยเหลือพัฒนาประเทศ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และ 7.ปฏิบัติหน้าที่อื่นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัตัหน้าที่ตามอำนาจใน 5 ข้อที่กล่าวหาให้มีประสิทธิภาพ”
“เราจะเห็นว่าอำนาจหน้าที่ดังกล่าวนั้น สิ่งที่เราลืมไปก็คือประชาชน การกำหนดเป้าประสงค์ของตำรวจ ประชาชนย่อมมีความสำคัญยิ่ง เราต้องมีกฎหมายปฏิรูปตำรวจทุกครั้ง เพราะตำรวจไม่เคยรับใช้ประชาชน ตำรวจจะต้องรับใช้ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าผู้มีอำนาจฝ่ายนั้นจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด ตำรวจก็จะไปรับใช้ เพราะการกำหนดวัตถุประสงค์ขาดเรื่องการดูแลประชาชน”
“ดังนั้นจึงได้ขอเพิ่มอนุในมาตรานี้ เพิ่มเติมเป็นอนุมาตรา 5/5 ก็คือ จะเพิ่มเติมให้ตำรวจมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน เพิ่มไปอีกหน้าที่หนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมานอกจากประชาชนยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายจากตำรวจแล้ว ตำรวจทั้งกรมตำรวจก็เป็นเหมือนนาวาที่ไร้ทิศทาง ผู้บริหารตำรวจก็อยู่ตามโชคชะตา ตามยถากรรม ซึ่งยังไม่มีเป้าหมายปลายทางเป็นอะไร และที่สำคัญอย่างยิ่งสภาพความเป็นอยู่ของตำรวจ จะเห็นว่าตำรวจโรงพักจะมีงานล้นมือ สิ่งต่างๆ พวกนี้ ทำให้เราจำเป็นต้องปฏิรูปตำรวจฉบับนี้ขึ้น” พ.ต.อ.ทวี ในฐานะอดีตตำรวจ กล่าว
เลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายเพิ่มเติมว่า ตำรวจเป็นอาชีพเดียวที่ทำงานควบคุมชุมชนและสังคมทั้งประเทศตลอด 24 ชั่วโมง เป็นอาชีพที่ต้องสัมผัสชุมชน และการแก้กฎหมายครั้งนี้เรามีน้อยประโยคมากที่พูดถึงประชาชน ดังนั้นถ้าเราได้กำหนดวัตถุประสงค์ให้ตำรวจมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน ซึ่งหน้าที่นี้อย่างน้อยที่สุด กฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แม้แต่ฉบับ 2560 ก็ยังมีว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง
“ผมคิดว่าการกำหนดขึ้นมาให้ตำรวจมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน จะทำให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชน ถ้าเราไม่มีวัตถุประสงค์มาตรานี้ขึ้นมา ก็จะเป็นตำรวจของผู้มีอำนาจ และบังคับใช้กฎหมายที่อำนาจนิยมจนเกินไป จึงขอสงวนและขอเพิ่มตามที่อภิปรายไป” พ.ต.อ.ทวี กล่าว