ส.ส.พรรคประชาชาติ รับฟังปัญหาผู้ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดิน จาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ที่ระแงะ นราธิวาส
ที่ มัสยิดดารุลอามาน บ้านกาหนั๊วะ ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส พันตำรวจเอกทวี สอดส่องเลขาธิการพรรคประชาชาติ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาผู้ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดิน จาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ โดยกล่าวว่าที่ดินคือชีวิตของผู้คน ผืนแผนดินสามารถแปรเปลี่ยนมาเป็นอาหาร และเงินทองให้แก่มนุษย์โดยไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่มีความขยันหว่านเมล็ดพันธุ์ลงบนดินและเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ปัญหาใหญ่ของที่ดินประเทศไทยที่เกิดความขัดแย้งส่วนใหญ่มาจากรัฐบาล ออกกฎหมาย และประกาศให้เป็นที่ดินของรัฐ อาทิ พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ซึ่งให้นิยามคำว่า “ป่า” คือ ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน
ทั้งที่ความเป็นจริงทางสังคมนั้นที่ดินเป็นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยประชาชนส่วนใหญ่จะไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตามกฎหมายที่ดิน(โฉนด ,น.ส.3 ,น.ส.3 ก หรือ ส.ค.1 ) จากข้อมูลประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 320.7 ล้านไร่ เป็นที่ดินตามกฎหมายที่ดินอยู่ความดูแลของกรมที่ดินประมาณ 127.39 ล้านไร่หรือประมาณ 39% ที่ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของเอกชนตามประมวลกฎหมายที่ดิน และที่ดินทั้งประเทศอีกประมาณ 193.31 ล้านไร่ หรือประมาณ 61% ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของรัฐ มีกฎหมายและหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ดูแลที่ดิน และตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ที่ดินของรัฐถือเป็นป่าทั้งหมด
“ในขณะที่นั่งรถผ่านมาที่ใกล้ๆเวทีนี้ ยังพบเห็นป้ายประกาศว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ ท่านส.ส.กูเฮงได้ถ่ายภาพประกาศและได้ส่งภาพมาให้ดู มีป้ายติดว่า ‘พื้นที่ป่าไม้ 2484 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจยึดแจ้งความไว้แล้วตามคดีอาญาที่ 128/2560 ลงวันที่ 26 กันยายน 2560 สภ.ศรีสาคร ห้ามมิให้บุคคลใดๆเข้าไปใช้ไปประโยชน์ในพื้นที่โดยเด็ดขาด’ นี่คือรัฐบาลที่ไปเขียนป้ายติดไว้ว่าเป็นที่ดินของรัฐบาลตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484″
พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่ากรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานบูโด–สุไหงปาดี พ.ศ.2542 ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส 7 อำเภอปัตตานี 1 อำเภอ และยะลา 1 อำเภอ รวม 25 ตำบล 89 หมู่บ้าน ทับซ้อนที่ดินทำกินของประชาชน ซึ่งตั้งถิ่นฐานนานกว่า 300 ปี ได้รับความเดือดร้อนกว่า 20,926 ราย ที่ดิน 23,015 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 127,612 ไร่ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งการโค่นยางพาราเพื่อขอปลูกใหม่ทดแทน การเข้าทำกินในสวนดูซง เป็นการละเมิดสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายต่อประชาชนจำนวนมากที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตนเอง ตามประมวลกฎหมายที่ดินอาทิ ส.ค.1 นส.3 และโฉนด รวมทั้งที่ครอบครองที่ดินโดยชอบ แม้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม
รากเหง้าของปัญหาว่า “ป่ารุกคน” ที่รัฐเป็นผู้กระทำความผิด แต่รัฐบาลจะไม่ยอมรับความผิด ที่ได้ทำขึ้น แต่กลับใส่ร้ายบอกว่า ‘คนรุกป่า’ ทั้งที่ผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 300 ปี ต้องกลายเป็นผู้อาศัย ถูกแจ้งความดำเนินคดีว่าเป็นผู้บุกรุกที่อุทยาน ที่ป่าสงวนแห่งชาติ และ ที่ป่าไม้ การแก้ปัญหาที่รัฐก่อขึ้นได้ออกเป็นมติ ครม. ให้มีการพิสูจน์สิทธิว่าประชาชนอยู่มาก่อนกฏหมายประกาศหรือไม่ ผลการพิสูจน์โดยชาวบ้านเดินเท้าพิสูจน์และใช้ จีพีเอส ตรวจสอบพิกัดเสร็จแล้วพบว่าที่ดินมากกว่า 90% ประชาชนใน 3 จชต อยู่มาก่อนประกาศเป็นอุทยานบูโด–สุไหงปาดีและกฏหมายป่าไม้อื่นๆ
ประชาชนได้แสดงเจตนาเปิดเผยต่อรัฐให้ทำการพิสูจน์สิทธิมาแต่ต้นเรียกร้องความเป็นธรรมแต่รัฐใช้เวลาพิสูจน์มากกว่า 20 ปี ยังพิสูจน์ไม่เสร็จ ขณะที่ประชาชนใน 3 จชต ได้ร่วมกันพิสูจน์สิทธิในที่ดินเสร็จแล้วกำลังจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่แล้วความฝันได้สลายลงเพราะรัฐบาล คสช. ได้ออก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 เป็นฉบับใหม่ ที่เป็นกฎหมายไม่ยุติธรรมต่อพี่น้องใน 3 จชต ซึ่งตามมาตรา 64 ผู้ที่ตั้งบ้านเรือนและทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติต้องกลายเป็นผู้อาศัยและกำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชตรวจสอบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน (ตั้งแต่ 25 พ.ย. จนถึง 22 ก.ค. 2563 ) จากนั้นรัฐเป็นผู้อนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกิน 20 ปี ทั้งที่ตามกฎหมายที่ดินรัฐต้องออกเป็นเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 หรือ ส.ค.1 ที่เป็น’สินทรัพย์’ของประชาชนไม่ใช่เป็นเพียงผู้อาศัยอยู่
“หลังจากพรรคประชาชาติได้รับฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนแล้ว ได้ส่งไปยังเครือข่ายให้พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากภาคเหนือและภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยานปรากฏว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าให้แก้กฏหมาย เพราะเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าหลายพื้นที่รัฐทำผิด แทนที่จะมาขอโทษหรือกลับไปตั้งต้นใหม่กลับออกกฏหมายทำผิดซ้ำซากจนมาถึงวันนี้จึงจำเป็นปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกบางมาตรา ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่ขัดหลักนิติธรรม สร้างปัญหาที่ส่งผลกระทบและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน การแก้กฏหมายต้องอาศัยข้อมูลข้อเท็จจริงรอบด้านและใช้อำนาจทางการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎรออกเป็นกฏหมายที่มีเป้าประสงค์เพื่อความยุติธรรมแก่ปวงชนมากที่สุด” พันตำรวจเอก ทวี กล่าว