จีนศึกษา ๓๑๕ พัฒนาระบบอุทยานแห่งชาติ
ข้อพิจารณาสำหรับการพัฒนาระบบอุทยานแห่งชาติเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและธรรมชาติ ดังกรณีของอุทยานแห่งชาติซานเจียงหยวน (三江源) ตั้งอยู่ในมณฑลชิงไห่ ทางภาคตะวันตกของจีน มีพื้นที่ ๗๒๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร (เฉพาะอุทยานฯ ปัจจุบันมีพื้นที่ ๑๙๐,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร โดยในเขตอุทยานมี ๑๒ หมู่บ้านประชากร ๖๖,๔๐๐ คนอาศัยอยู่ เฉลี่ยคนละประมาณ ๓ ตารางกิโลเมตร)
มณฑลชิงไห่ ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูงชิงไห่–ทิเบต เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดของโลก และเป็นหนึ่งในมณฑลแรกๆ ของจีนที่ดำเนินการนำร่องอุทยานแห่งชาติ โดยรัฐบาลจีนได้บรรลุเป้าหมายในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติและระบบการบริหารจัดการแบบครบวงจร ตั้งแต่ในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน และการปรับปรุงการจัดการอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมทั้งการดูแลประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้เข้าร่วมในการฝึกอบรมและแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุรักษ์อุทยาน ตลอดจนการสนับสนุนในการจัดตั้งสหกรณ์และส่งเสริมความรู้ด้านการประกอบอาชีพในพื้นที่ เช่นการท่องเที่ยว การเปิดร้านอาหารและการเปิดที่พักแบบโฮมสเตย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับการดูแลพื้นที่ให้มีมาตรฐานระดับโลก โดยเฉพาะการร่วมมือกับสื่อทุกแขนงในการประชาสัมพันธ์อุทยานแห่งชาติ
แนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการดูแลประชาชนของกรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำ ๓ สาย ได้แก่ แม่น้ำเหลือง แม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำหลานชางหรือแม่น้ำโขง โดยพื้นที่แห่งนี้เป็นต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงคนจีนทั้งในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำกว่า ๗๐๐ ล้านคน รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับสถาบันด้านการวิจัย กลุ่มNGOs แหล่งทุน รวมถึงอุทยานแห่งชาติในต่างประเทศ อีกทั้งยังมีการร่วมมือกับสื่อในประเทศจีนในการร่วมกันถ่ายทำสารคดีเพื่อเผยแพร่ความรู้ของอุทยานฯ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ด้วย ทำให้พื้นที่อุทยานได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกด้านธรรมชาติของ UNESCO และยังเป็นมรดกด้านธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์http://www.chinadaily.com.cn/a/201907/09/WS5d23fea9a3105895c2e7c788.html และเว็บไซต์https://baike.baidu.com/item/%E4%B8%89%E6%B1%9F%E6%BA%90%E5%9B%BD%E5%AE%B6%E5%85%AC%E5%9B%AD/19508404 )