จีนศึกษา๑๙๒ ยุทธศาสตร์จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ผู้นำรุ่นที่ ๕
บทวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของจีนภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิงผู้นำของจีนรุ่นที่ ๕
๑. ช่วงแรกของการดำรงตำแหน่ง ระหว่างปี ๒๐๑๒ – ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) ได้ประกาศภารกิจในการนำพาประชาชาติจีนให้บรรลุถึง “ความฝันของจีน” (中国梦/Chinese Dream) โดยการผลักดันการฟื้นฟูครั้งใหญ่แห่งประชาชาติจีน ได้แก่ การฟื้นฟูประเทศ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สร้างความมั่งคั่ง สรรค์สร้างสังคมที่ดีขึ้น และขยายกำลังกองทัพ พร้อมกับได้ปลุกคนหนุ่มสาวให้กล้าที่จะฝันทำงานหนักเพื่อที่จะบรรลุฝันไปพร้อมๆกับอุทิศให้แก่ประเทศชาติ ได้แก่
ประการแรก เป้าหมาย (ENDs) ที่ประชาชน มีฐานะพออยู่พอกินอย่างทั่วถึงในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) รวมทั้ง ภายในปี ๒๐๔๙ (พ.ศ.๒๕๙๒) จะบรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมนิยมสมัยใหม่ที่มั่งคั่งเข้มแข็ง มีประชาธิปไตย มีอารยธรรมและมีความปรองดองในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
ประการที่สอง วิธีการ หรือ แนวทาง (WAYs) ที่จะดำเนินการไปสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ภายใต้การยืนหยัดและพัฒนาสังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน โดย (๑) การสร้างประเทศให้เข้มแข็งมั่งคั่งด้วยการบูรณาการงานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ (๒) การนำพาประชาชาติให้เจริญรุ่งโรจน์ด้วยการปฏิรูปอย่างถึงแก่นและรอบด้าน มีระบบการปราบปรามการคอร์รัปชั่นที่ทันสมัย (๓) การทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขมีการศึกษาในวัยเรียน มีรายได้จากงานที่มั่นคง ได้รับการรักษายามเจ็บป่วย ได้รับการดูแลยามแก่ชรา มีที่อยู่อาศัยของตนเอง
ประการที่สาม การพิจารณาใช้เครื่องมือ หรือทรัพยากร (MEANs) ในการปฏิรูปประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงและการทหาร รวมทั้งด้านการต่างประเทศที่จะต้องบูรณาการในการนำประเทศจีนให้ไปสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ดังที่กล่าว โดยต้องอาศัยปัจจัยสองประการคือ (๑) ปัจจัยภายในประเทศ ที่ต้องมีเสถียรภาพ (๒) ปัจจัยภายนอก ที่ต้องมีสันติภาพและเสถียรภาพ เพื่อลดอุปสรรคจากการที่ต้องเข้าไปวุ่นวายกับการแก้ไขปัญหาภายนอกที่จะสร้างความรำคาญ เช่น ปัญหาหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ เป็นต้น
๒. ในช่วงที่สองของการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) เป็นต้นมา โดยได้ประกาศยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการพัฒนาในอนาคต ๓๐ ปีของจีน (ค.ศ.๒๐๒๐– ๒๐๕๐) แบ่งเป็น ๒ ช่วงเวลา ได้แก่
โดยในช่วง ๑๕ ปีแรก (ค.ศ.๒๐๒๐ – ๒๐๓๕ หรือ พ.ศ.๒๕๖๓ – ๒๕๗๘) ภายในปี๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) มุ่งสู่เป้าหมายในการทำให้จีนก้าวขึ้นเป็น “ประเทศนวัตกรรมชั้นนำของโลก” ด้วยการเสริมสร้างพลังอานาจทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และลดช่องว่างรายได้ระหว่างประชาชนในเขตเมืองและเขตชนบทให้ลดลง รวมทั้งการพัฒนารักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
สำหรับช่วง ๑๕ ปีถัดไป (ค.ศ.๒๐๓๕ – ๒๐๕๐ หรือ พ.ศ.๒๕๗๘ – ๒๕๙๓) ภายในปี๒๐๕๐ (พ.ศ.๒๕๙๓) จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย มีความมั่งคั่ง มีอานาจมีความสงบสุข มีความสวยงาม และจีนจะเป็นประเทศที่มีทรงอิทธิพลของโลก ด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าในระดับสูง
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
จากเอกสารต่างๆ (เรียงลำดับอักษรชื่อผู้แต่ง) ได้แก่ ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล, พลโท ดร. (๒๕๖๕). ยุทธศาสตร์จีนบนเวทีโลก เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : ธนอรุณการพิมพ์. และ มติชน, สำนักพิมพ์. (๒๕๕๙). สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด. รวมทั้ง อาร์ม ตั้งนิรันดร. (๒๕๖๑). China 5.0 : สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ bookscape.