จีนศึกษา๑๘๖ การสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมทิเบต – กรุงกาฐมาณฑุ
ข้อพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์จากการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมเขตปกครองตนเองทิเบต – กรุงกาฐมาณฑุ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๑ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางเศรษฐกิจระหว่างจีน–เนปาล อันมีผลสืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรีเนปาล คัดห์กา ปราสาท โอลี (Khadga Prasad Oli) ซึ่งได้เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๔ มิ.ย.๖๑และได้ลงนามในข้อตกลงจำนวน ๑๐ ฉบับ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นข้อตกลงในการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ที่จะก่อสร้างเชื่อมต่อเมืองซิกาเจอ (Xigaze/Shigatse) ในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีนกับกรุงกาฐมาณฑุของเนปาล
ทั้งนี้ ประเทศเนปาลถือเป็นจุดขนส่งและกระจายสินค้าแห่งสำคัญระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียใต้ และยังเป็นแกนกลางหลักในการขยับขยายการค้าขายแลกเปลี่ยนซึ่งกระทำผ่านเขตปกครองตนเองทิเบต โดยทางรถไฟนี้คาดว่าจะแสดงการเชื่อมโยงเส้นทางสัญจรระหว่างสองประเทศที่ดียิ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ จีนได้สร้างทางรถไฟระยะทาง ๑,๑๐๐ กิโลเมตรเชื่อมที่ราบสูงทิเบตกับส่วนต่าง ๆ ของประเทศ และในปี พ.ศ.๒๕๕๖ ได้สร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างกรุงลาซา ทิเบต กับ ซีกาเจอ (Xigaze/Shigatse) ระยะทาง ๒๕๐ กิโลเมตร โดยมีเส้นทางซิกาเจอ(Xigaze/Shigatse) – จี๋หลง (Gyirong) อยู่ในแผนการรถไฟปี พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๓
ประโยชน์ที่เนปาลจะได้รับ
๑. เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของเนปาล ที่ต้องการเสนอให้พัฒนาถนนและการจราจรทางอากาศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นธุรกิจการค้าระดับทวิภาคีและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
๒. รัฐบาลเนปาลคาดหวังว่าทางรถไฟสายใหม่นี้จะเป็นเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศจีน–เนปาล ตามนโยบาย “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (21st-Century Maritime Silk Road) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
สำหรับประโยชน์ที่จีนจะได้รับ
๑. เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้จะเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตามโครงการข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันตกของจีนมีเส้นทางเชื่อมโยงออกสู่มหาสมุทรอินเดียเพิ่มมากขึ้น โดยผ่านภูมิภาคเอเชียใต้
๒. เนปาลสามารถเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างจีนกับอินเดียได้ โดยร่วมผลักดันระเบียงเศรษฐกิจจีน–เนปาล–อินเดีย
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.xinhuanet.com/english/2018-06/24/c_137277462.htm )