จีนศึกษา๑๕๗ พัฒนา เซินเจิ้น สู่ศูนย์กลางนวัตกรรมและการเงินของโลก
ข้อคิดที่ควรนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ จากการพัฒนาเมืองเซินเจิ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ โดยแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากนายเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีนทำให้เมืองเซินเจิ้น กลายเป็นชุมทางขนส่งและคมนาคมที่สำคัญ ทั้งทางทะเลและอากาศทางตอนใต้ของประเทศ โดยเฉพาะการเข้าออกของสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่บริเวณท่าเรือเมืองเซินเจิ้น มีปริมาณมากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ และเป็นอันดับ ๖ ของโลก นอกจากนี้ ท่าอากาศยานของเมืองเซินเจิ้นก็ติดอันดับ ๑ ใน ๔ สนามบินใหญ่ในประเทศจีน และเป็นเมืองระดับสากลที่ทันสมัย
สำหรับแผนในอนาคตของเมืองเซินเจิ้น ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน ที่มีจุดมุ่งหมายทำให้จีนกลายเป็น “ศูนย์กลางนวัตกรรมและการเงินของโลก”และภายใต้แผนดังกล่าว ได้มีการดำเนินนโยบาย “Made in China 2025” ซึ่งจะกระตุ้นให้จีนสามารถขยายขีดความสามารถด้าน “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับผลผลิตต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) เพื่อผลักดันแบรนด์ “Made in China” ให้เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ทำให้ “เซินเจิ้น” ได้รับการยกระดับเป็น “Silicon Valley of Asia” เนื่องจากปัจจัยสำคัญ ๒ประการ กล่าวคือ
ประการที่ ๑ ในบรรดาเมืองใหญ่ ๙ แห่งบริเวณเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลประกอบด้วย นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองฝอซาน เมืองจูไห่ เมืองตงกว่าน เมืองจงซานเมืองเจียงเหมิน บางส่วนของเมืองจ้าวชิ่ง และบางส่วนของเมืองหุ้ยโจว พบว่า “เซินเจิ้น” เป็นเมืองที่มีภาคการผลิตใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าเพิ่มด้านอุตสาหกรรมถึง ๗๑๙,๐๐๐ ล้านหยวน ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๒ โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การสื่อสาร คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และด้านธุรกิจการเงิน
ประการที่ ๒ เซินเจิ้น เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของนโยบายตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) โดยเป็นศูนย์กลางการเงินอันดับที่ ๒๒ ของโลก และเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น และเขตการค้าเสรีเฉียนไห่ เป็นหนึ่งในเขตการค้าเสรีในยุคแรกที่ดำเนินนโยบายการใช้ “นวัตกรรม” ที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจ และมีโรงเรียนธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งผลิตผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะด้านการเงินชั้นสูงได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว มีสถานะเป็นเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุด และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ของจีน กล่าวว่า การปฏิรูปสู่ภายนอก เป็น “พันธุกรรม” ของการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเมืองเซินเจิ้น อีกทั้งเป็น “รหัสลับ” ในการอธิบายสาเหตุที่ประเทศจีนและคนจีนสามารถบรรลุการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ จากแนวคิดอันมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของนายเติ้งเสี่ยวผิง เมื่อ ๔๓ ปีก่อนหน้านี้ ที่กล่าวถึงรัฐบาลท้องถิ่นว่าสามารถแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งออกมาและตั้งชื่อเขตพิเศษได้ แม้รัฐบาลกลางจะไม่มีเงินทุน แต่จะให้นโยบายพิเศษบ้าง โดยต้องอาศัยเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นกำหนดนโยบายและหาเงินทุนเอง รวมทั้งพยายามบุกเบิกหนทางการพัฒนาใหม่
จึงกล่าวได้ว่า เมืองเซินเจิ้น เป็นกรณีตัวอย่างซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จในรอบ ๔๓ ปีที่ผ่านมาต่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเปิดสู่ตลาดโลกของจีนได้เป็นอย่างดี
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://m.dutenews.com/shen/p/6811144.html และเว็บไซต์http://www.gd.gov.cn/zwgk/wjk/zcfgk/content/mpost_2939398.html )