จีนศึกษา๑๑๒ ปัญหาทะเลจีนใต้
Tan Qingsheng เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกรมเขตแดนและกิจการทางทะเลของกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้กล่าวว่า กองกำลังภายนอกบางส่วนกำลังยั่วยุให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างผู้อ้างสิทธิ์ในน่านน้ำด้วยแรงจูงใจทางภูมิศาสตร์การเมืองของตนเองและเพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยเฉพาะการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอกที่กำลังเพิ่มความท้าทายมากขึ้นในทะเลจีนใต้ ดังนั้น การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในทะเลจีนใต้ยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากและความท้าทายอย่างมาก ที่โดดเด่นที่สุดคือมหาอำนาจจากต่างประเทศบางประเทศได้ยกระดับการจัดการและการมีส่วนร่วมในข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ด้วยการเสริมการจัดวางกำลังและการปฏิบัติการทางทหารในทะเลจีนใต้อย่างจริงจัง รวมทั้งการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ การขัดขวางการเจรจาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ และพยายามที่จะสร้างความบาดหมางกันระหว่างประเทศในภูมิภาค
Tan Qingsheng เห็นว่า ทุกฝ่ายควรจัดการกับความแตกต่างทางทะเลอย่างเหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินการฝ่ายเดียวที่อาจเพิ่มข้อพิพาท และร่วมกันรักษาความสงบในทะเลแม้ว่าการเจรจาเริ่มต้นขึ้นในปี 2017 (พ.ศ.2560) เพื่อหาแนวทางจัดการกับความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ แต่ความคืบหน้าหยุดชะงักไปในช่วงสองปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ Tan Qingsheng ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่จีนกำลังเพิ่มการมีส่วนร่วมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ จากการโทรศัพท์ของผู้นำจีนได้สนทนากับประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์เมื่อต้นเดือน เม.ย.65 ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกล่าวว่าการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคไม่สามารถทำได้ผ่านพันธมิตรทางทหาร และจีนยินดีที่จะส่งเสริมการลงทุนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้สนทนากับนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนามในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือน เม.ย.65 ว่า สงครามในยูเครนเป็นเครื่องเตือนใจให้ประเทศในเอเชียเห็นว่าการเผชิญหน้ากันแบบกลุ่มก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่สิ้นสุด
สรุปโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3175203/south-china-sea-external-forces-meddling-disputes-chinese )