“อัตราดอกเบี้ยหนี้สาธารณะ” เสมือนมะเร็งร้ายทางการเงิน ที่แพร่เชื้อลุกลามเข้าสู่ปวงชนที่ยากต่อการรักษา(1) **โดย พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ**
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ชี้แจงดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของรัฐบาลร้อยละ 2.42 และดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 2.48 และจากรายงานหนี้สาธารณะของไทยสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หนี้สาธารณะของไทยมีจำนวน 9,828,268.17 ล้านบาท สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 60.17 แยกเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้ จำนวน 8,720,929.74 ล้านบาท ต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.42 ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 211,046.48 ล้านบาทเศษต่อปีและหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 843,328.46 ล้านบาท ต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.48 ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 20,914.53 ล้านบาทเศษต่อปี
จำนวนหนี้สาธารณะปัจจุบัน 9,828,268 ล้านบาทเศษนั้น เป็นภาระของประเทศและประชาชนต้องเสียดอกเบี้ยทุกช่วงเวลา เฉลี่ยประมาณ 231,961 ล้านบาทเศษ/ปี หรือ 19,330 ล้านบาทเศษ/เดือน หรือ 635.5ล้านบาทเศษ/วัน หรือ 26.47 ล้านบาทเศษ/ชั่วโมง ซึ่งเมื่อรวมเงินต้นที่ครบกำหนดชำระคืนเจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ยแล้ว รัฐบาลไม่มีปัญญาหาเงินมาชำระหนี้คืนได้เพราะงบประมาณบริหารราชการแผ่นดินที่มี ‘รายจ่ายประจำ’ มากกว่า 2.1 ล้านล้านบาทต่อปี(งบประมาณปี 2566 เป็นรายจ่ายประจำมากถึง 2,396,942.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.26 ของวงเงินงบประมาณ) แนวทางการชำระหนี้เงินกู้ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจึงไม่มีนอกเสียจากการ “กู้หนี้ก้อนใหม่มาจ่ายคืนหนี้เงินกู้ก้อนเก่า” หรือเรียกว่า “เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ” ซึ่งวิธีการดังกล่าวไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ เป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขในการจ่ายหนี้ของรัฐ เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระ หรือชำระล่าช้า ซึ่งจะทำให้รัฐถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นจากหนี้ปกติจึงยืดหนี้ หรือปรับอัตราดอกเบี้ยส่วนภาระดอกเบี้ยยังวิ่งไม่หยุด