การเมือง

‘รมช.มนัญญา’เยี่ยมชมการผลิตกาแฟอะราบิกาศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย

นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟอะราบิกา สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  นายอำพันธุ์ เวฬุตันติรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรบ้านปางขอน สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน.ห้วยชมพู .เมือง .เชียงราย

โดยประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกกาแฟ และมีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม สามารถปลูกกาแฟได้ทั้งพันธุ์อาราบิก้าในพื้นที่ภาคเหนือ และพันธุ์โรบัสต้าในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านกาแฟแก่เกษตรกร ให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริง เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาคุณภาพของกาแฟไทยที่จะออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและอาเซียน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย กรมวิชาการเกษตร ได้วางแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟอะราบิกาโดยจัดทำแปลงต้นแบบการฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟอะราบิกาที่มีอายุมาก จำนวน 2 ไร่ จัดทำแปลงขยายพันธุ์มะคาเดเมีย จำนวน 5 ไร่ ใช้เป็นพืชร่มเงาการฝึกอบรมการผลิตกาแฟอะราบิกาที่ถูกต้องและเหมาะสม ดำเนินกิจกรรมผลิตต้นพันธุ์กาแฟอะราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 จำนวน 4,000 ต้นต่อปี และผลิตต้นพันธุ์มะคาเดเมีย จำนวน2,000 ต้นต่อปี ใช้เป็นพืชร่มเงากาแฟ สนับสนุนให้กับเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับผลการดำเนินงาน การปลูกกาแฟอะราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 พบว่า มีผลผลิตกาแฟกะลา จำนวน 132 ตัน ในปี 2554 และเพิ่มเป็น 383 ตัน ในปี 2561 คิดเป็นรายได้ จากการจำหน่ายกาแฟ 59.9 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกกาแฟเฉลี่ย 275,440 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบในปี 2545 ก่อนเริ่มโครงการเกษตรกรมีรายได้ครัวเรือนเพียง50,000 บาทต่อครัวเรือน ต่อปี

ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการ ได้เป็นต้นแบบขยายผลสู่พื้นที่อื่นของภาคเหนือตอนบน ปี2565 เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ดำเนินงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ บ้านปางขอน ได้รับการรับรองแหล่งผลิตดีที่เหมาะสม (GAP) ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9001-2556 ได้จำนวน 95 ราย 95 แปลง พื้นที่ได้รับการรับรอง 1,170 ไร่

แผนการดำเนินงานต่อไป ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย มีแผนสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาการผลิตกาแฟสู่ระดับพรีเมี่ยม โดยใช้ชุดเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงการเกษตรกรรม การใช้ดัชนีการเก็บเกี่ยวกาแฟเทคโนโลยีการหมักกาแฟ เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เก็บรักษากาแฟ เทคโนโลยีการคั่วกาแฟลดสารพิษ เทคนิคการคัดเกรดกาแฟ รวมทั้งการประเมินคุณภาพกาแฟเพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟของเกษตรกรต่อไปในอนาคต

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า