สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์ที่ 10
ผมอ่านหนังสือการคณะสงฆ์ ประมวลพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์ที่ 10 และปัจจุบัน องค์การ ยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
หนังสือประมวลพระนิพนธ์ นั้น มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ในงานมหาสมณานุสรณ์ ครบ 50 ปี แต่วันสิ้นพระชนม์ 1-7 สิงหาคม พ.ศ. 2514 รวมหลายเรื่องหลายประเด็น ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ทรงพระวิริยะอุตสาหะ โดยมิคำนึงถึงความสุขสบายส่วนพระองค์ แต่ทรงทุ่มเทเพื่อปรับปรุงการคณะสงฆ์ทั้งการปกครองและการศึกษา
การคณะสงฆ์
คณะสงฆ์จึงเป็นศรีสง่าคู่กับสถาบันชาติและพระมหากษัตริย์ในแผ่นดินไทยถึงทุกวันนี้
ก่อนที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า จะทรงบัญชาการคณะสงฆ์ ตาม พรบ.สงฆ์ รศ. 121นั้นคณะสงฆ์ไม่มีอำนาจในการปกครองกันเอง จึงทำให้เกิดอากูลหลายย่าง
แต่เมื่อทรงจัดการปกครองสงฆ์ให้มาอยู่กับพระเถระตามลำดับชั้น ก็ทำให้การปกครองสงฆ์เป็นระเบียบเรียบร้อย ดังที่เห็นในปัจจุบันนี ( พ.ศ.2514)(คำปรารภ หน้า 11)
ในช่วงนั้น เป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนานานาประการ หนึ่งในนั้น คือทรงพระราชดำริให้มีศาลสงฆ์
ทรงให้ยกร่างขึ้น เรียกว่า พระราชบัญญัติจัดศาลพระพุทธอาณา พระพุทธศักราช 2458 (พระราชบัญญัตินี้เป็นแต่เพียงโครงร่างไว้เท่านั้น ยังร่างไม่เสร็จ ต้นร่างเป็นลายพระหัตถ์)
ข้อความต้นร่างบางตอนมีดังนี้
ก่อนแต่งตั้งศาลยุติธรรมขึ้น ศาลธรรมการมีหน้าที่พิจารณาคดีอันเกิดขึ้นในระหว่างภิกษุด้วยกัน และในระหว่างฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุอีกฝ่ายเป็นฆราวาส เป็นศาลพิเศษดุจศาลทหารบกทหารเรือในบัดนี้
จำเดิมแต่ตั้งศาลยุติธรรมขึ้นแล้ว คดีเหล่านี้ได้พิจารณาที่ศาลสถิตยุติธรรมอย่างคดีพื้นเมือง เว้นไว้แต่คดีประถมปาราชิก ที่ยังพิจารณาในหน้าที่ศาลธรรมการ อีกฝ่ายหนึ่ง
อธิกรณ์ในระหว่างภิกษุด้วยกัน อันเกิดขึ้นทางพระพุทธอาณา ไม่เกี่ยวกับทางอาณาจักรเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะสงฆ์มีอยู่
ทรงพระราชดำริเห็นสมควรจะพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่คณะสงฆ์ ในทางชำระอธิกรณ์ ขจัดเสี้ยนพระพุทธศาสนา
โดยฐานเป็นพุทธศาสนูปถัมภก อนุโลมตามธรรมเนียมเดิม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ มีกระแสความดังต่อไปนี้
หมวดที่ 1 ขนานชื่อและกำหนดใช้พระราชบัญญัติ
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้ชื่อว่า พระราชบัญญัติจัดศาลพุทธอาณา พระพุทธศักราช2458
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้ตั้งแต่โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว
มาตรา 3 ตั้งแต่ใช้พระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ยกเลิกกฏหมายและธรรมเนียมอันขัดขวางต่อพระราชบัญญัตินี้ มิให้ใช้ต่อไป
หมวดที่ 2 ชั้นแห่งศาล
มาตรา—ศาลพระพุทธอาณามี 4 ชั้น คือ
1 ศาลฎีกา
2 ศาลคณะมณฑล
3 ศาลคณะเมือง
4 ศาลคณะแขวง
มาตร—ศาลเหล่านี้มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยอธิกรณ์ตามอาณาเขตดังนี้
ว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์
ศาลฎีกาทั่วพระราชอาณาเขต
2 ศาลคณะมณฑล เพียงมณฑลหนึ่ง
3 ศาลคณะเมือง เพียงเมืองหนึ่ง
4 ศาลคณะแขวงเพียงแขวงอำเภอหนึ่ง
มาตรา—ให้เป็นหน้าที่เจ้าคณะจะพิจารณาและวินิจฉัยอธิกรณ์ด้วยตนเอง หรือจัดให้มีผู้ทำแทนในนามของตน
อธิกรณ์ชั้นฎีกาเป็นพระธุระของสมเด็จพระมหาสมณะจะทรงเอง หรือโปรดให้ผู้อื่นพิจารณา
และวินิจฉัย
มาตรา—อธิกรณ์ที่ศาลล่างวินิจฉัยแล้ว ฝ่ายโจทก์ก็ดี ฝ่ายจำเลยก็ดี เห็นไม่เป็นธรรมให้ร้องอุทธรณ์ ขึ้นไปโดยลำดับ ให้ถึงที่สุดเพียงชั้นฎีกา(จบร่าง)
อ่านและดูเนื้อหายกร่างแล้วรู้สึกเสียดายที่ผู้มีอำนาจต่อมาไม่ได้สนองพระราชดำริ หากมีขึ้นตามพระราชดำริ คณะสงฆ์ที่ถูกกล่าวหาต่างๆ นานา คงมีช่องทางต่อสู้และพูดได้บ้าง มิใช่ปากถูกรูดซิป ตามที่เห็นและเป็นอยู่
โดย อารามชรา