OIC เยือนชายแดนใต้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งสร้างสันติสุข ยกไทย เป็นประเทศตัวอย่าง อยู่ร่วมกัน ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 29-30 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมาองค์การความร่วมมืออิสลาม (The Organization of Islamic Cooperation) หรือที่รู้จักกันดีในนามOIC เดินทางเยือน จังหวัดชายแดนภาคใต้(จชต.)ตามคำเชิญของรัฐบาลหลังผู้บริหารระดับสูงของ OIC ไม่ได้เดินทางเยือนประเทศไทย มามากกว่า 10 ปี
แม้ไทยจะไม่ได้เป็น 1 ในประเทศสมาชิก แต่เป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามในประเทศ จึงเป็นประเทศที่ OIC เฝ้าสังเกตการณ์เพื่อไม่ให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชากรโลกที่นับถือศาสนาอิสลาม
การมาเยือนของนายยูซุฟ อัลเบอี(Mr.Yousef Mohammed S.Aldobeay) ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC จึงเป็นการคาดหวัง ความสำเร็จในหลายเรื่องสำหรับภาครัฐ ที่ต้องการให้ OIC ได้เห็นถึง‘ข้อเท็จจริง’ ในเรื่องของการปกครองการดูแลประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศ แนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้‘คนไทยทุกศาสนา ในชายแดนใต้’ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม
การเยือนของ ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC และคณะ ถือเป็น‘ด่านหน้า’ ของ OIC ในการเก็บข้อมูลก่อนคณะใหญ่ นำโดย เลขาธิการOIC จะมาเยือนด้วยตนเอง เลขาธิการศอ.บต. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร จึงวางโปรแกรมการเดินทางและเยือนสถานที่สำคัญใน 3 จังหวัดชายแดน
จ.ยะลา เยือน ศอ.บต. รับฟังแนวทางการดูแลพลเมืองในชายแดนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามกว่า80 เปอร์เซ็นต์ ในด้านต่างๆ ทั้งการส่งเสริมศาสนกิจ ทำนุบำรุงศาสนาพุทธและอิสลาม สนับสนุนกิจกรรมของศาสนา เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ในส่วนความมั่นคงในพื้นที่นั้น ถูกนำเสนอจากหน่วยงานความมั่นคง อย่างกอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า
ผู้ช่วยเลขาฯ OIC ขอบคุณรัฐบาลที่ดูแลมุสลิมในชายแดนใต้อย่างเต็มที่ทุกมิติ มีการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีซึ่งจากการเยือนพื้นที่ OIC ได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้กีดกันสิทธิเสรีภาพของพี่น้องมุสลิมในประเทศแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มีการสนับสนุน หนุนเสริมและดูแลเป็นอย่างดี!
ศอ.บต. ยังนำคณะเดินทางเยือนม.ฟาฏอนี มหาวิทยาลัยที่เน้นการเรียนการสอนผนวกกับวิชาการด้านอิสลามของประเทศ ซึ่งได้รับฟังการพัฒนาการศึกษาจากอธิการบดี นายลุตฟี จะปะกียา โดยย้ำชัดเจนอีกหนึ่งแรงเสียง ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพของมุสลิมในชายแดนใต้และประเทศไทย พร้อมเผยถึงความปลอดภัย ด้วยจำนวน น.ศ.ที่เดินทางศึกษาในสถาบันฯ กว่า 50 จังหวัดและ 45 ประเทศจากทั่วโลก
ต่อด้วยการลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ร่วมละหมาดและเยือนมัสยิดกลางจ.ปัตตานี ศูนย์รวมจิตใจด้านศาสนาของคนในชายแดนใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกระแสรับสั่ง ให้บูรณะอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติศาสนกิจของประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจทุกปี สร้างความปลื้มปีติในพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรในพื้นที่อย่างหาที่สุดมิได้
นอกจากนี้ ศอ.บต. ยังนำคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชม “มัสยิดรายอฟาฏอนี” ซึ่งเดิมเป็นสุเหร่าอาคารไม้ สร้างในรั้ววัง ต่อมาได้มีการบูรณะ จนปัจจุบันถูกขนานนาม เป็น “ทัชมาฮาลเมืองไทย” และได้เดินทางลงพื้นที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดตุยง) ต.ตุยงอ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อพูดคุยกับเจ้าอาวาส พร้อมเดินทางศึกษาเรียนรู้เมืองต้นแบบ อ.หนองจิก ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังผลักดันให้เป็นเมืองเกษตรแปรรูป เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตรก้าวหน้าผสมผสาน ตามโปรแกรมของ ศอ.บต. ที่หวังเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ด้านเศรษฐกิจ
OIC ได้เห็นถึงศักยภาพของ จชต. พร้อมกล่าวชื่นชมรัฐไทยในการขับเคลื่อนงาน ก่อให้เกิดการจ้างงานการอยู่ร่วมกัน ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม แม้โรงงานแปรรูปมะพร้าวครบวงจร จะมีเครื่องมือ และนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย แต่ยังมีการส่งเสริมกำลังการผลิตโดยใช้แรงงาน เพื่อเปิดโอกาสการจ้างงานใน จชต. ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม
นอกจากนี้ หัวเรือใหญ่ ศอ.บต. ยังนำคณะ OIC เดินทางไปยัง จ.นราธิวาสชมอัลกุรอานโบราณ ณพิพิธภัณฑสถานมรดกวัฒนธรรมอิสลาม โรงเรียนสมานมิตรวิทยาต.ละหาร อ.ยี่งอ ซึ่งมีอัลกุรอานคัดมือโบราณ กว่า 78 ฉบับ มีอายุประมาณ150-1,100 ปี และแวะละหมาด ณมัสยิดกลาง จ.นราธิวาส พักผ่อนอิริยาบถ ณ หาดนราทัศน์ และเดินทางเข้าพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
ยิ่งพบปะ พูดคุย และเยือนสถานที่ต่างๆใน 3 จังหวัด ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC และคณะ ย้ำชัด! ว่าประเทศไทยเป็นประเทศตัวอย่างในการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้องในสังคมพหุวัฒนธรรม! ประทับใจที่รัฐไทยจัดสรรงบฯจำนวนมาก สร้างพิพิธฑสถานเก็บอัลกุรอานคัดมือโบราณ
OIC ยังฝากความหวังแก่โรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทำนุบำรุงพลเมืองให้มีคุณค่าของสังคม โดยสอนเยาวชนและมุสลิมในแดนใต้ให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องศาสนาและวิชาการ ยึดมั่นในอิสลามสายกลาง“ไม่สุดโต่ง ไม่เอนเอียง ไม่ขวาหรือซ้าย แต่เป็นไปตามหลักคำสอนของศาสดานบีมุฮัมหมัด“
จากนั้นเยี่ยม ม.นราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ซึ่ง เป็นสถาบันการศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สอดคล้องกับการแสวงหาอาชีพเมื่อจบการศึกษา
“OIC พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชายแดนใต้ และพร้อมเป็นส่วนในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ด้วย”
ขณะเดียวกัน เลขาฯ ศอ.บต. ยังมีนำเสนอการผลักดันการศึกษาในแดนใต้ จากมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่งที่ OIC ไม่ได้เยือน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 2 แห่งในพื้นที่เป็นสถาบันการศึกษาเคียงข้างประชาชน และหนุนการปฏิบัติงานของรัฐบาล เพื่อยกระดับชายแดนใต้สู่มิติแห่งความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุข
เห็นได้ว่า โปรแกรมการเดินทางเยือนชายแดนใต้ เลขาฯ ศอ.บต. วางเป้าหมายไปที่การศึกษา นำคณะเยือนและนำเสนอ 4 มหาวิทยาลัย และ 1 ร.ร.สอนศาสนา เพื่อให้เห็นว่า รัฐพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศ ด้วยศักยภาพของคนชายแดนใต้ ที่มีความรู้เรื่องวิชาการ ภาษา และศาสนา สอดรับกับประเทศโลกมุสลิมอย่างเช่น ซาอุดิอาระเบีย หลังผู้นำ 2 ประเทศฟื้นสัมพันธ์ 2 ชาติอีกครั้ง ในรอบ 32 ปี
ด้านนายดามพ์ บุญธรรม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา เผยว่า ประเทศไทยมีนโยบายขยายความร่วมมือไปยังประเทศสมาชิกโลกมุสลิมของ OIC ใน 57 ประเทศ เพื่อให้ได้รับความร่วมมือด้านการเมือง การศึกษา และด้านเศรษฐกิจ การค้าขายระหว่างประเทศซึ่ง OIC มีบทบาทที่สำคัญไม่น้อยกว่าสหประชาชาติ การมาเยือนของคณะเพื่อให้คณะได้นำข้อมูลเรียนไปยังเลขาธิการ OIC และขยายผลสู่ประเทศกลุ่มสมาชิก ว่า ประเทศไทยมีสิ่งใดที่จะสามารถสนองต่อประเทศในกลุ่มสมาชิก OIC อย่างไรได้บ้าง
ความพยายามแก้ปัญหา สร้างสันติสุข นั้น ภาครัฐดำเนินการต่อเนื่อง โดย ล่าสุด ในห้วงเดือน พ.ค. 2565 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา จชต. หรือ กพต. นำโดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกพต. ยังอนุมัติ โครงการสนับสนุนอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน โรงเรียนสอนศาสนา ทั้งพุทธและอิสลาม เป็นโครงการล่าสุดที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 388 ล้านบาท ภายใต้โครงการเสริมสร้างคนดี ตามหลักการทางศาสนา เพื่อสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยการสนับสนุนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์(ศพอ.)
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูรเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงการมาเยือนของ OIC ว่า เป็นนิมิตรหมายที่ดีในการมาเยือนและเป็นโอกาสดีของประชาชน จชต. ที่คณะ OIC ลง มาดูมาฟัง เสียงสะท้อนของประชาชนยอมรับว่า การบริหารจัดการบางอย่างในพื้นที่อาจขาดสมดุล จึงส่งผลให้เกิดความเห็นต่างและมีเหตุการณ์รุนแรงในช่วงเวลาหนึ่ง แต่การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ใช้การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กินดี อยู่ได้เข้าใจกัน ส่งเสริมหลักความเชื่อและความเป็นอยู่ เป็นวิธีการที่ภาครัฐดำเนินการ เพื่อสร้างสันติสุขกลับคืนสู่แดนใต้
อย่างไรก็ตาม การดูแลคนในชาติโดยเฉพาะคนในพื้นที่ 3 จชต. ในการส่งเสริมการประกอบศาสนกิจ การให้มีวันหยุดราชการในวันสำคัญของศาสนา อำนวยความสะดวกให้ประชาชนไปประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบียสนับสนุน บูรณะสถานที่สำคัญของทุกศาสนา พร้อมมอบค่าตอบแทนแก่ผู้นำศาสนาทุกระดับ ฯลฯ
เป็นสิ่งยืนยันกับ นานาประเทศ รวมทั้ง OIC ในวันนี้ว่า รัฐไทยเท่าเทียมและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพียงเพราะความแตกต่าง! ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตามความสำเร็จของ OIC เยือนแดนใต้ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งเป็น “ข้อเท็จจริง” ให้องค์กรระดับโลกได้เห็นและสัมผัสเอง