จีนศึกษา ๓๒๔ “การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของจีน–อาเซียน”
ความจำเป็นที่ต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างจีนกับอาเซียน ได้แก่ (๑) ประการแรกเป็นเพราะลักษณะและภูมิสถาปัตย์ของทั้งสองประเทศที่ทำให้ทั้งสองคือจีนกับอาเซียนต้องสร้างความไว้วางใจให้กันและกัน ถึงระดับที่ต้องวางยุทธศาสตร์ที่สำคัญๆ ร่วมกันได้ จีนมีพลังทางเศรษฐกิจอย่างมาก มีพลังทางการเมือง มีเพื่อนมากมายในทวีปต่างๆเช่น แอฟริกา ลาตินอเมริกา ขณะเดียวกันอาเซียนก็มีเพื่อนมากจากทุกค่ายของอุดมการณ์ในโลกนี้ มีอาเซียนที่ใกล้ชิดกับจีน มีอาเซียนที่เคยใกล้ชิดกับรัสเซีย มีอาเซียนที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มีอาเซียนที่อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน มีอาเซียนที่เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ อินโดนีเซีย ฯลฯ (๒) ประการที่สอง ยุทธศาสตร์ที่สำคัญหลายอย่างของจีนนั้นจะสำเร็จได้ อยู่ที่อาเซียนเป็นสำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ ๒มหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงทางกายภาพ การค้าการลงทุน ความมั่นคง การออกสู่ทะเลของจีน การสร้างท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ถนน รถไฟความเร็วสูง จากท่านาแร้ง ที่เวียงจันทน์ผ่านหนองคายเข้ามา ทั้งหลายเหล่านี้จะสำเร็จได้อยู่ที่อาเซียนเป็นสำคัญ ถ้าอาเซียนไม่มียุทธศาสตร์ร่วมกันแล้ว นโยบายยุทธศาสตร์สำคัญของจีนก็ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ (๓) ประการที่สาม อาเซียนและจีนต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกันโดยเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นตลาดการค้า การลงทุน การเงิน การเคลื่อนย้ายของทุนหรือ Capital Movement ทั้งหลาย จีนและอาเซียนจะต้องอำนวยความสะดวกให้กันและกันทั้งการขนส่ง Logistic โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ การส่งออกการลงทุน และการท่องเที่ยว (๔) ประการที่สี่ คือ เหตุผลด้านความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศ มีทั้งประเทศในและนอกภูมิภาค ต้องการมีบทบาท ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น จีนก็มุ่งหวังที่จะลดความเสี่ยงของการขยายบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทในทะเลจีนใต้ บทบาทในช่องแคบมะละกา บทบาทในการประชุมเอเชียตะวันออกก็ดี บทบาทในความร่วมมือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และ(๕) ประการที่ห้า จีนต้องการให้อาเซียนที่กลัวจีน กลับมาร่วมมือกับจีนให้ได้ ในขณะที่อาเซียนต้องการให้จีนสนใจอาเซียนเหมือนเดิมและมากขึ้น โดยสนใจในแง่การวางยุทธศาสตร์กับอาเซียน ดังนั้น จีนกับอาเซียนต้องเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วยกัน
สำหรับแนวทางที่จะนำไปสู่การมียุทธศาสตร์ร่วมกันได้ เช่น (๑) ประการแรก ต้องรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิสถาปัตย์ทางการเมือง อาทิ “บูรพาภิวัตน์” หรือEasternization การเติบโตของเอเชียหรือเอเชียผงาด การเติบโตของจีน ของอินเดียการเปลี่ยนแปลงของการที่อาเซียนที่จะร่วมมือกันทั้ง ๓ เรื่อง คือ เศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม ในขณะที่ยุโรปเปลี่ยนแปลงไปโดยอ่อนลงและมีปัญหา ดังนั้น ต้องตั้งหลักด้วยการสร้างแผนที่ (Road Map) ในแต่ละเรื่องว่าจะเดินทางร่วมกันอย่างไร โจทย์ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ ๑๐ ประเทศของอาเซียนไม่กลัวจีน และจีนเองต้องทำอย่างไรไม่ให้อาเซียนกลัว (๒) ประการที่สอง กลไกภาครัฐ ประชาสังคมภาคเอกชน ต้องกระชับ ควรมีแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับอาเซียนแต่ละประเทศ และแผนยุทธศาสตร์กับอาเซียนโดยรวม ที่ไม่ใช่เฉพาะเขตการค้าเสรีอาเซียน–จีน ช่วยเหลือกันด้วยการเป็นหุ้นส่วน การเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดซึ่งกันและกันในภูมิภาคเดียวกันเหมือนญาติพี่น้อง จุดยืนในเวทีพหุภาคี เช่น WTO, APEC, ASEAN – Europe Meeting ฯลฯเรื่องใดที่ร่วมกันได้และควรจะมียุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ กลไกASEAN Plus One กลไกเชื่อมโยงทางกายภาพต้องกระชับในทุกระดับของความสัมพันธ์ (๓) ประการที่สาม ทำอย่างไรที่ผู้ใหญ่ในอาเซียนจะคุ้นเคย กล้าพูด กล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การจัด Retreat ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญของผู้นำ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ มาพบกันแบบไม่เป็นทางการ เพื่อคุยอย่างเปิดอก โดยไม่ต้องมีการจดหรือบันทึก หรือฝ่ายใดไม่เห็นด้วยก็จะไม่เสียหน้า (๔) ประการที่สี่ การปรึกษาหารือกันมากขึ้นในเรื่องที่เป็นปัญหาร่วมกัน ในเรื่องที่ห่วงใยร่วมกัน(Common Concern) เช่น กรณีแม่น้ำโขง เป็นต้น
อุปสรรคต่อการมียุทธศาสตร์ร่วมกัน ได้แก่ (๑) ประการแรก ความสนใจและทำตามเป้าหมาย ต่างๆ ของการพัฒนาประเทศ เป้าหมายต่างๆ ทางการเมือง จนลืมความรู้สึกของผู้อื่นหรือเอาแต่ใจตนเอง (๒) ประการที่สอง ความกลัวจีนของประเทศในอาเซียนทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง (๓) ประการที่สาม ปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้ ถึงแม้ว่าไทยจะไม่ได้อยู่ในข้อเรียกร้องหรืออยู่ในกระบวนการเรียกร้องดินแดนหรือสิทธิอะไร (Claimant State) ทั้งๆ ที่อาเซียนมี Clamant State อยู่หลายประเทศ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย และยังมีประเทศนอกทะเลจีนใต้ คือ สหรัฐฯ ซึ่งมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องทางด้านการเดินเรือ (Navigation Route) เป็นต้น
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.vijaichina.com/interviews/116 )