สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแจกันดอกไม้ มอบให้ นายมีชัย แต้สุจริยา หรือ “ครูเถ่า” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โปรดให้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เชิญแจกันดอกไม้พระราชทาน มอบแก่ นายมีชัย แต้สุจริยาหรือ “ครูเถ่า” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์–ทอผ้า) ประจำปี พ.ศ. 2564 นำความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้พระราชทานแจกันดอกไม้ แก่นายมีชัย แต้สุจริยา หรือ “ครูเถ่า” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ในโอกาสนี้ นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำแจกันดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีในครั้งนี้ด้วย
นายมีชัย แต้สุจริยา หรือ “ครูเถ่า” เกิดเมื่อ 24 ธันวาคม 2501 ทายาทแห่ง ‘บ้านคำปุน‘ เป็นบุตรของ นายเตียซ้ง แซ่แต้ และคุณแม่คำปุน ศรีใส (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์–ทอผ้า) ประจำปี 2561) ผู้เป็นมารดาที่ได้ถักทอคุณค่าผืนผ้ามาตั้งแต่ครั้งอดีต ครูเถ่าเริ่มหลงใหลในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบ้านเกิดของตน หลงใหลในเสน่ห์ผืนผ้าของคุณยายโดยเฉพาะ ‘ผ้าปูมเก่า‘ ของคุณยาย ด้วยเป็นหลานยายของ “คุณยายน้อย จิตตะยโศธร” ซึ่งสืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองยโสธร ที่เป็นผ้าบรรดาศักดิ์ของต้นตระกูล อันมีลวดลายอันวิจิตร ผ่านการทอที่ประณีต มาตั้งแต่วัยเยาว์
ปัจจุบัน เป็นที่รับรู้ในแวดวงไฮเอนด์ด้านแฟชั่นว่า ผลงานผ้าทอจาก “บ้านคำปุน” นั้น มีความ“ยูนีก-Unique” ชนิดใครต่อใครต่างเต็มใจ “รอคิว” และ “ยินดีจ่าย” ให้แบบไม่เกี่ยง ขอเพียงให้ได้มาครอบครองสักผืนสองผืน เกี่ยวกับประเด็นนี้ คุณเถ่า อธิบาย ความ “ยูนีก” นี้ ไม่ใช่เพราะต้องการ “อัพราคา” แต่เพราะต้องทำงานให้ประณีตทุกขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำนั้นนานมาก
“คำปุน” เป็นแบรนด์ผ้าไทยจากจังหวัดอุบลราชธานี ที่ผู้ใช้ผ้าไทยรู้จักและเชื่อถือในคุณภาพกันมานานหลายสิบปี พูดได้เต็มปากว่าเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมาก
รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
• พ.ศ. 2543 ได้รับ ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
• พ.ศ. 2544 ได้รับโล่เกียรติคุณในฐานะ ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี จาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
• พ.ศ. 2559 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน จาก สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)
• พ.ศ. 2562 ได้รับรางวัล “เพชรพาณิชย์” จาก กระทรวงพาณิชย์
• พ.ศ. 2563 ได้รับการยกย่องเป็น ปราชญ์หม่อนไหม สาขาลวดลายผ้า (การออกแบบลวดลายผ้ากาบบัวอุบล) จาก กรมหม่อนไหม
• พ.ศ. 2564 ได้รับพระราชทานรางวัล The Best of Best ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” (จากผู้ส่งเข้าประกวด 15 ประเภท 3,214 ผืน) ในงาน OTOP MIDYEAR 2021 CELEBRATE THAI CULTURE จัดโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สนองแนวพระดำริ ภายใต้แนวคิด “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล ณ ทรูไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
• พ.ศ. 2565 ได้รับการประกาศเกียรติคุณ “เป็นสุดยอดช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญา” และได้รับการพิจารณาให้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายสำหรับผลงาน “Creative Hand Symbol” for silk brocade ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุด สำหรับช่างฝีมือระดับนานาชาติ ในงาน“Iran International Handicrafts Festival” ณ กรุงอิสฟาฮาน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน จากกระทรวงมรดกวัฒนธรรม หัตถกรรม และการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
• พ.ศ. 2565 ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ESS Award ด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวรังไหมและการสาวไหม Excellence in Sericulture Science (ESS) Award* (post cocoon and post yarn technology) จาก คณะกรรมการสมาคมไหมโลก International Sericultural Commission
• พ.ศ. 2565 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ประจำปีพ.ศ. 2564 จาก กระทรวงวัฒนธรรม
นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินผู้รังสรรค์ผ้าทอ ที่ช่วยต่อลมหายใจภูมิปัญญาการทอผ้าศิลปะเฉพาะถิ่นของเมืองอุบลฯ อย่างผ้ากาบบัวให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในช่วงวิกฤติโควิดที่ส่งผลกระทบอย่างหนัก ทว่า ครูเถ่า–มีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ทายาทรุ่น 3 แห่งบ้านคำปุน ก็ยังยิ้มสู้ประคับประคองกิจการโรงงานทอผ้าและพิพิธภัณฑ์ให้คงอยู่ได้ อีกทั้งมีโอกาสได้สนองพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในการนำเอาลายผ้าลายขอพระราชทานมาประยุกต์ถักทอ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพคุณเถ่าเชื่อในพลังความรักและการเอาใจใส่กันและกัน พร้อมยึดมั่นในหลักพรหมวิหาร 4 เขาจึงมุ่งปฏิบัติธรรมชำระจิตใจและบำเพ็ญกุศล เพื่อความสุขที่ยั่งยืนทั้งปัจจุบันและอนาคต
ในปี พ.ศ. 2565 ครูเถ่า–มีชัย แต้สุจริยา ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ประณีตศิลป์–ทอผ้า) ประจำปี พ.ศ. 2564 ทำให้ ‘บ้านคำปุน‘ มีศิลปินแห่งชาติถึง 2 ท่าน คือครูเถ่า กับ คุณแม่คำปุน ศรีใส ก็ได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ประณีตศิลป์–ทอผ้า) ประจำปี พ.ศ. 2561
สุมาลี สมเสนาะ/ข่าว จักรกฤษณ์ มาลาสาย /ภาพ