พัลลภ ไทยอารี ประธาน พ.ส.ล.ขึ้นเวที อินเตอร์เฟธ เสนอแนวคิดนำคำสอน พุทธศาสนา แก้ปัญหาโลก
ตามที่ วอน บุดดิสม์ องค์กรชาวพุทธ ในเกาหลีใต้ เชิญ พัลลภ ไทยอารี ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) และมณเธียร ธนานาถ เลขาธิการพ.ส.ล.ให้เสนอแนวคิดทางพระพุทธศาสนา ร่วมกับผู้นำศาสนาอื่นๆ และ บัน คี มูน อดีตเลขาธิการ UN เพื่อนำไปแก้ปัญหาต่างๆ ของโลกในการประชุมร่วมระหว่างศาสนาสำหรับพลเมืองโลก 2023
Intetfaith Coalition Conference for Global Citizens 2023 ที่กรุงโซล วันที่ 22-24 สิงหาคม พ.ศ.2566 นั้น
ทางเจ้าถาพ เขียนภูมิหลังการจัดประชุมว่า
วอน บุดดิสม์ จัดประชุมร่วมระหว่างศาสนา สำหรับพลเมืองโลก 2023 ภายใต้แนวคิดว่า ปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ คืออารยธรรมใหม่ทางวัตถุ ที่มีความเจริญก้าวหน้า จนก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ทางเศรษฐกิจ และการเมือง ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม และวัฒนธรรม กระจายไปทั่วโลก
เมื่อเร็วๆ นี้การระบาด ไวรัส โควิด 19 นอกจากทำให้เกิดความชะงักงันทั่วโลกแล้ว ยังเผยให้เห็นความเปราะบางโครงสร้างทางสังคม ที่ถูกปิดไว้จากการพัฒนาทางวัตถุที่รวดเร็ว รวมถึงการสูญเสียคุณค่าความเป็นมนุษย์อีกด้วย
ผลที่ตามมาคือความแห้งแล้งทางจิตวิญญาณ และเกิดอวิชชา ซึ่งนำไปสู่การท้าทายและการคุกคามความมั่นคง คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ พร้อมๆ กับสภาพอากาศที่แปรปรวน การแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ สุดท้ายคือสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมา โดยการสร้างคุณค่าทางศีลธรรม เพื่อความยั่งยืนระหว่างอารยธรรมทางจิตวิญญาณและวัตถุ
ในอดีตศาสนามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพและความก้าวหน้า แต่ศาสนาก็ทิ้งรอยมลทินไว้เป็นบันทึก เช่นความเกลียดชัง และการเผชิญหน้ากัน เพราะศรัทธาอุดมการณ์และการปฏิบัติ ที่แตกต่างกัน
แต่ปัจจุบันมีความจำเป็นที่ทุกศาสนาต้องเปิดประตูแบ่งพื้นที่ให้มีการสนทนากัน เป็นหุ้นส่วน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจร่วมกัน เพื่อสร้างโลกแห่งสันติที่แท้จริง
คำปราศรัยของคุณพัลลภ
พัลลภ ไทยอารี ประธาน พ.ส.ล.กล่าวในนามชาวพุทธว่า
หัวข้อหลักของการประชุมวันนี้ คือ การเรียกร้องความเป็นเอกภาพและร่วมมือกันเพราะเป็นช่วงเวลาวิกฤตของโลก ดังนั้น ทุกคนในฐานะพลเมืองโลกที่มาจากศาสนาต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมาร่วมกันจัดการกับความท้าทายนี้ โดยแสวงหาวิธีการในเชิงนวัตกรรมและความเห็นอกเห็นใจ เอื้ออาทรเพื่อฟันฝ่าวิกฤตต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ ให้บรรลุผลของรูปแบบสังคมใหม่ที่เราต้องการ
คุณพัลลภกล่าวว่า หลักคำสอนของศาสนาพุทธนั้นลึกซึ้ง มีคุณค่าสามารถนำไปสร้างสังคมสงบสุขได้ อย่างเช่น เหตุที่เกิดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลจากเหตุและปัจจัย
คำสอนพุทธ ไม่มีแนวคิดเรื่องพรหมลิขิตหรือโชคชะตา แต่บอกว่าการเกิดของสรรพสิ่งและเหตุปัจจัยอื่นๆ เป็นเรื่องของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลา
การปรับทัศนคติเชิงบวกและการปลูกฝังความกตัญญูรู้คุณ เหล่านี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงตัวเราในภาวะที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เจ็บปวดหรือไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะช่วยรักษาสมดุลความรู้สึกของการมีชัยและความสิ้นหวังได้ ศาสนาพุทธมีคำสอนที่มุ่งเน้นปัจจุบัน มุ่งให้มีสติ และมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงโดยปราศจากการตัดสินหรือคิดล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
คำสอนยังเน้นเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว แต่ให้มีความเมตตาอันเป็นคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ที่จะสร้างสังคมให้เกิดสันติภาพ
คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นครอบคลุมความหมายเบ็ดเสร็จ มนุษย์สามารถนำไปใช้ขจัดความขัดแย้งและช่วยใหับรรลุสันติภาพได้
การมีทัศนคติเชิงบวกและความพยายามร่วมกันจะนำพาไปสู่การสร้างโลกแห่งสันติสุขนอกจากนั้น การอยู่ร่วมกันอย่าสมานฉันท์กับสาวกศาสนาอื่น และการเคารพต่อคุณลักษณะและคัมภีร์ของศาสนาอื่นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทุกศาสนาล้วนมีแก่นปรัชญาความรัก ความเคารพ และการไม่ใช้ความรุนแรงเช่นกัน แต่มีการอธิบายที่แตกต่าง ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ของแต่ละภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเหมือนกันคือ การทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐและช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่เห็นแก่ตัว
สุดท้ายคุณพัลลภ สรุปว่า เราควรใช้โอกาศนี้อภิปรายให้มีความหมาย เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ เรียนรู้ร่วมกัน จนสามารถสร้างรูปแบบอนาคตที่สดใส จากผลของการประชุมนี้ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจไปสู่การดำเนินงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และความสามัคคีของมนุษยชาติ สืบไป
คำปราศรัยของคุณมณเธียร ธนานาถ
คุณมณเธียร ธนานาถ เลขาธิการ พ.ส.ล ที่กล่าวบนเวที โดยสรุปว่า ปัญหาของโลกมีมาก แต่มีทางแก้ปัญหาได้ เช่นการประชุมเสวนา เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อคำสอนศาสนาต่างๆ ในสังคมใหัมากขึ้น
คุณมณเธียรว่า เนื้อหาคำสอนพระพุทธศาสนาที่จะหยิบยกมากล่าว คือ เมตตา กรุณาความเห็นใจ และเอื้ออาทรต่อกัน และเชื่อว่าคำสอนนี้แก้ปัญหาต่างๆ เช่นสงครามได้แต่จะให้ถึงผู้นำประเทศต่างๆได้ ต้องช่วยกันสื่อสารแก่นแท้ทางศาสนาเช่นเมตตา และความคิดเชิงบวกให้ถึงหูผู้นำตามความเหมาะสม
คุณมณเธียรว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า มีความเชื่อมโยงกัน (interconnected) การพึ่งตนเอง (independence) และการสืบทอด (inheritance) สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น ปัญหาเรื่องโลกร้อนที่เป็นปัญหาใหญ่
สามารถนำหลักการว่าถ้าเรารักตนเอง เรารักคนอื่น มีวามเมตตาต่อคนอื่น สิ่งต่างๆรอบตัวเราก็จะสะท้อนกลับมาหาเราในทำนองเดียวกัน เพราะทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงกัน
ในทำนองเดียวกันหากเราเห็นแก่ตัว มีการทำลายสิ่งที่ให้กำเนิดธรรมชาติ (mother nature) เราก็จะถูกทำร้ายกลับเช่นเดียวกันหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กฎแห่งกรรม” คือทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น
คุณมณเธียร กล่าว่าการเสวนาระหว่างศาสนาจะเป็นการเพิ่มช่องทางที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติผ่านหลักคำสอนนี้ ให้เผยแพร่ไปยังประเทศที่ยังไม่ได้ให้ความใส่ใจในเรื่องนี้เท่าที่ควร
เพราะยังคงมีการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นตัดไม้เพื่อสร้างความร่ำรวย เป็นต้น
ถ้าหากประเทศเหล่านั้นมีหลักการเดียวกันในเรื่องของความเมตตา กรุณา ความเห็นใจเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็อาจจะมีความเข้าใจและไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ดังที่เป็นอยู่ก็ได้
สุดท้ายคุณมณเธียรว่า การแก้ปัญหาที่แท้จริงคือการลงมือทำ ดังคำกล่าวที่ว่า ลงมือทำดังกว่าคำพูด
ส่วนคำปราศรัยของท่าน บัน คี มูนนั้น ผมสรุปจาก ข้อความ ที่ คุณพัลลภ เขียนในไลน์หลังจากทราบการเกิดภัยธรรมชาติในเกาะ มาลวี รัฐฮาวาย ว่าคุณพัลลภ นึกถึงคำพูดของ ท่าน บัน คี มูน ที่บอกว่า โป๊ป ฟรานซิส เคยตรัสแก่ท่าน (บัน คี มูน) ว่า ถึงจุดหนึ่งมนุษย์ให้อภัยต่อมนุษย์ด้วยกันได้ แต่ธรรมชาติไม่เคยให้อภัยใครเลย
ฟังแล้ว ทำให้นึกถึงการทำร้ายธรรมชาติของมนุษย์และมนุษย์ได้รับผลกรรมที่ทำไว้แบบที่ธรรมชาติไม่ให้อภัยเลยครับ
แต่มีสิ่งที่มนุษย์ให้แก่กันได้ คือความเมตตา กรุณา ต่อกัน เมื่อยามได้พบผู้ประสบภัยพิบัติ เหมือนที่ พ.ส.ล.ได้มอบ (ความช่วยเหลือ) ให้กับวัดในรัฐฮาวาย (ที่ประสบภ้ยพิบัติ) ในครั้งนี้ ครับ
สมาน สุดโต รายงาน