ตะลึง! กรมศิลปากร พบคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ อายุ 380 ปี สร้างสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
เมื่อ พ.ศ.2186 เก็บรักษาอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม กทม.
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายวัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ แถลงที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ว่าจากการที่กรมศิลป์ โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ เครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นเพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรม และวัดเบญจมบพิตร ได้เข้าไปอนุรักษ์ คัมภีร์จารึกใบลาน อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโบราณ ที่เก็บไว้ที่วัดเบญจมบพิตรนั้น
เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบใช้เวลาทำงานเป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่ 8 กันยายน 2565 ถึง 7 กุมภาพันธ์ 2566
จากการทำงานครั้งนี้ได้พบคัมภีร์ใบลานมากถึง 425 มัด
หรือนับเป็นผูก (เล่ม หรือฉบับ) มีจำนวนมากถึง 6,275 ผูก
และเอกสารประเภทสมุดไทยอีก 6 เล่ม
ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารโบราณที่พบในกลางกรุงที่ใหญ่มาก
คัมภีร์ดังกล่าวสืบสายธารประวัติศาสตร์ ได้ถึง 3 สมัย ได้แก่สมัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ถึงรัชกาลที่ 6
ที่นักอนุรักษ์ตื่นเต้นคือได้พบคัมภีร์ใบลาน สมัยอยุธยา “ชื่อคัมภีร์วิมติวิโนทนีวินัยฎีกาสร้างสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ.2186 อายุ 380 ปี” นักอนุรักษ์ ได่บันทึกไว้ในบัญชีเลขที่ วบจ. 22-25 (เพื่อสะดวกในการค้นคว้า)
ในสมัยกรุงธนบุรี พบคัมภีร์เรื่อง สารสังคหะ สร้างสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพ.ศ.2320 หรือ อายุ 246 ปี
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พบคัมภัร์โบราณ ชื่อธรรมบทอัฏฐกถา สร้างใน สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พ.ศ.2338 นับอายุคัมภีร์ได้ 238 ปี
การสร้างคัมภีร์ จารึกลงในใบลาน ได้ทำต่อเนื่อง ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 ทำให้เห็นว่าวัดเบญจมบพิตร เป็นแหล่งเอกสารโบราณ ที่สามารถเปรียบเทียบยุคสมัยของตัวอักษร แต่ละรัชกาลได้ดี ในแหล่งเอกสารเดียวกัน
นอกจากนี้ได้ศึกษายุคเปลี่ยนผ่านการจารึกในใบลาน มาพิมพ์ในกระดาษฝรั่ง เริ่มสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ปริวรรตพระไตรปิฎก จากอักษรขอม มาเป็นอักษรไทย แล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทยลงในกระดาษฝรั่ง นับเป็นครั้งแรกในโลก
แต่การจารึกคัมภีร์ในใบลาน ยังคงมีต่อเนื่อง เช่นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพสร้างคัมภีร์ใบลาน จำนวนมาก ถวายวัดเบญจมบพิตร เช่นคัมภีร์เลขที่ 524 เรื่อง เวสสันตรกถา ที่สร้าง พ.ศ. 2461 นับอายุได้ 105 ปี
นอกจากนั้นยังพบคัมภีร์ใบลาน ที่ “เจ้าทับ” สร้าง ได้แก่เรื่อง มังคลัตถทีปนี ที่สร้างในพ. ศ.2386 หรือสมัยรัชกาลที่ 3 ดังนั้น ชื่อ เจ้าทับ สันนิษฐานว่า เป็นพระนามของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพราะพระนามเดิมคือ ทับ
กรมศิลปากร อนุรักษ์แล้วส่งมอบให้ พระธรรมวชิราธิบดี เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรพร้อมคาดหวังว่า สาธารณชนจะให้ความสนใจ มาศึกษาค้นคว้าต่อไป
เครดิตภาพ กรมศิลปากร