กรมศิลปากร กรมป่าไม้ และจังหวัดอุดรธานี ผนึกกำลังผลักดันภูพระบาทเข้าสู่บัญชีมรดกโลก คาดอุดรธานีจะเป็นจังหวัดเดียวที่มีมรดกโลก 2 แห่ง
เย็นวันที่ 30 เมษายน 2565 ที่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร, นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้, นายกองเอกปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี, นายวิมล สุระเสน นายอำเภอบ้านผือ, นายมงคล มีลา นายกเทศมนตรีตำบลกลางใหญ่ และนายเอกพล ศรีทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพาน ร่วมกันแถลงข่าวการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเข้าสู่บัญชีมรดกโลกและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการแหล่งมรดกวัฒนธรรม เพื่อนำแผนการบริหารจัดการไปปฏิบัติ โดยผู้บริหารกรมศิลปากร ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น และหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทให้การต้อนรับ
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพของโบราณสถาน โดยเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ซึ่งเราได้พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยอารยธรรมและความเชื่อของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 3,000 ปี เราเห็นว่าในพื้นที่ที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนในเขตภูมิภาคอีสาน โดยเฉพาะฝั่งไทยและลาวได้มีการใช้พื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งเราได้ประกาศขึ้นทะเบียนภูพระบาทเป็นโบราณสถานแห่งชาติในปี 2524 วันที่ 28 เมษายน 2524 จากวันนั้นถึงวันนี้ครบ 40 ปีแล้วที่มีการประกาศ รวมถึงพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมเดียวกันคือ วัฒนธรรมเสมา ซึ่งอยู่ที่วัดพระพุทธบาทบัวบาน เราได้ยกเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535 จากนั้น ก็มีการพัฒนาพื้นที่มาโดยตลอด ด้วยเห็นว่าพื้นที่มีศักยภาพและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นมีความเป็นของแท้ดั้งเดิม จึงมีการเสนอรายชื่อเบื้องต้นของมรดกโลกในปี 2547
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อปี 2562 เห็นชอบให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวัฒนธรรมของประเทศ โดยให้กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลักดันการขึ้นทะเบียนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกในส่วนของภูพระบาท “ฉะนั้นเรามั่นใจว่าจังหวัดอุดรธานีจะเป็นจังหวัดเดียวที่มีมรดกโลก 2 แห่ง” คือ มรดกโลกบ้านเชียงและมรดกโลกภูพระบาทแห่งนี้ ซึ่งจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดอุดรธานีและประเทศไทย
ความโดดเด่นของภูพระบาทนั้น มีพื้นที่ที่จะใช้ประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกประมาณ 3,661 ไร่มีทั้งพื้นที่ของกรมป่าไม้และพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ถูกนำเสนอเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมภายใต้เกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลก 2 ข้อ ที่เป็นลักษณะที่โดดเด่น คือ เกณฑ์ข้อที่ 3 เอกลักษณ์ที่หายากยิ่งเพราะภูพระบาทลักษณะแบบนี้ไม่เคยพบที่ใดในประเทศไทยและเชื่อว่าในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือที่อื่นๆ ก็อาจจะไม่มีเหมือนเรา และเกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นแหล่งที่มีตัวอย่างที่โดดเด่นในการปรับใช้พื้นที่ทางธรรมชาติมาเป็นพื้นที่แหล่งวัฒนธรรมในเรื่องของความเชื่อศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน เป็นมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขือน้ำ) บนเทือกเขาภูพาน อยู่ทางทิศตะวันตก ห่างออกมาประมาณ 12 กิโลเมตร จากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย
จากหลักฐานโบราณคดี พบว่าบริเวณนี้มีมนุษย์เข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานสำคัญ คือ ภาพเขียนสี อยู่ตามเพิงหิน ที่ปรากฏกระจายอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มากกว่า 47 แห่ง มีทั้งภาพคน ฝ่ามือ สัตว์ และลวดลายเรขาคณิต ชี้ให้เห็นถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว มีความสัมพันธ์กับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการค้นพบขวานหินขัด ลูกปัดอาเกต และเศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน ที่พบอยู่ตามที่ราบริมลำน้ำโมงเชิงเขาภูพาน
ชาลิสา ชมภูราษฎร์–รายงาน