สมเด็จพระวันรัต พระเถระที่หาได้ยากในยุคนี้
สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นพระเถระที่หาได้ยากในกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะได้รับนิมนต์ให้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพ หลายครั้งด้วยกัน ทั้งๆ ที่หน้าที่นี้เป็นของสมเด็จพระสังฆราช
รับนิมนต์นั่งเสลี่ยงกลีบบัว อ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2560
การได้รับเกียรติที่หาได้ยาก มิใช่ครั้งแรก หากแต่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่คล้ายคลึงกันนี้หลายครั้งในอดีต เช่น พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 15 พ.ย. 2551 ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี
พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี วันที่ 9 เม.ย. 2555 ซึ่งดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต
ถ้าย้อนไป เมื่อ พ.ศ. 2516 ขณะที่ยังเป็นพระมหาจุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9 ได้นั่งเสลี่ยงอ่านพระอภิธรรมเวียนพระเมรุ 3 รอบ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี (ประสูติวันที่ 12 ม.ค. 2435-สิ้นพระชนม์วันที่ 17 ต.ค. 2515) ซึ่งทรงเป็นผู้อุปัฏฐากในคราวอุปสมบทพระมหาจุนท์ วันที่ 8 ก.ค. 2499
หากดู พ.ศ.ที่อุปสมบท คือ 2499 ท่านจัดว่าเป็นพระนวกะร่วมสมัยกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงผนวชวันที่ 22 ต.ค. 2499 และประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร จนกระทั่งทรงลาผนวชวันที่ 5 พ.ย. 2499
ยิ่งกว่านั้น เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่พระอมรโมลี ยังได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเรื่องพระธรรมวินัย แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหา
วชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ที่ทรงผนวชเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2521 ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาผวชในวันที่ 20 พ.ย. 2521
สมเด็จพระวันรัต เป็นพระเถระที่มีจริยาวัตรงดงาม สังวรในพระวินัย เป็นสังฆโสภณ เป็นที่ภาคภูมิใจของผู้ที่สอบประโยค ป.ธ.9 ได้ในรุ่นเดียวกัน ใน พ.ศ. 2515 ซึ่งมีทั้งหมด 16 รูป เป็นรุ่นที่อัศจรรย์ เพราะถึงวันนี้เป็นสมเด็จพระราชคณะ 2 รูป นอกจากสมเด็จพระวันรัต ก็ได้แก่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ส่วนที่เป็นเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ได้แก้ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี) ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม หรือท่านที่ผู้ยังไม่ได้เป็นเจ้าคุณ ก็เป็นเจ้าคุณได้ด้วยบารมีของท่าน เช่น พระมหาจำนงค์ วรวฑฺฒโน ป.ธ.9 เจ้าอาวาสวัดพังม่วง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณล่าสุดในรุ่นนี้ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2557 จึงสรุปได้ว่า ประโยค 9 รุ่น พ.ศ. 2515 หากไม่ลาสิกขา ก็รุ่งเรืองในสมณเพศจนได้เป็นเจ้าคุณทุกรูป
ด้านจริยาวัตรหนังสือรวมประวัติสมเด็จพระวันรัตแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนถึงจริยาวัตรว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีอัธยาศัยเงียบขรึม พูดน้อยแต่เสียงดัง ตรงไปตรงมา ฉะนั้นผู้ที่ไม่เคยรู้จักคุ้นเคยอาจรู้สึกว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นคนดุ ด้วยอัธยาศัยดังกล่าว เมื่อทำสิ่งใดจึงเอาจริงเอาจังและละเอียดถี่ถ้วนเพื่อความเรียบร้อยของงานนั้น เพราะได้รับการอบรมจากครูบาอาจารย์ต่างๆ นับแต่เป็นสามเณร จนกระทั่งอุปสมบทได้รับการศึกษาอบรมอยู่ในสำนักของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ผู้ทรงธรรมทรงวินัยมาโดยตลอด นับว่าเป็นผู้โชคดีและเจริญดีดุจมีพรหมรักษา สมดังสมณฉายาว่า “พฺรหฺมคุตฺโต” และผู้เป็นเช่นนี้ในทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า “ผู้เจริญในสำนักอาจารย์” อันมีความหมายว่า เป็นผู้ได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างดีจากครูบาอาจารย์ที่ดี หรือที่สำนวนไทยเรียกว่า “ศิษย์มีครู”
สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ก.ย. 2479 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด โยมบิดา–มารดา ชื่อ จันทร์และเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์ ท่านสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด จากนั้นได้เข้าพิธีบรรพชาเมื่อ
วันพุธที่ 12 พ.ค. 2491 ณ วัดคิรีวิหาร ต.
ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด โดยมีพระวินัยบัณฑิตเป็นพระอุปัชฌาย์ กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ค. 2499 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตฺตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธมฺมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังอุปสมบทได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
ส่วนภาระหน้าที่พิเศษ ยากที่จะหาผู้ใดทำหน้าที่นี้ได้ในยุคปัจจุบัน คือ การที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมเป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติไทย) และให้ความเห็นก่อนที่จะประกาศใช้ในแต่ละปี นอกจากนี้ยังเดินหมุดและคำนวณปฏิทินปักขคณนาสำหรับวันลงอุโบสถให้กับคณะสงฆ์ธรรมยุตด้วย
ท่านดำรงตำแหน่งสำคัญด้านการศึกษา เช่น เคยดำรงตำแหน่งเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง มาเป็นเวลยาวนาน ด้านการปกครอง เช่น เป็นพระอุปัชฌาย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร และวัดตรีทศเทพวรวิหาร
ท่านนับว่าเป็นพระมหาเถระที่หาได้ยากในยุคนี้
โดย อาราม ชรา