จังหวัดภูเก็ต ประชุมส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย ปีงบประมาณ 2567
สินค้า กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าของ กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ให้มีมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกษตรกร มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นการกระจายรายได้และสร้างอาชีพที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมังกร 7 สีในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
วันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมสารสิน ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานประชุมส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย ปีงบประมาณ 2567 สินค้า กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต โดยมีนางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นายปฏิพัทธ์ ปานสุนทร นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา หัวหน้าส่วนราชการภาคเอกชน ผู้ผลิตและผู้ประกอบทรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของแต่ละสินค้าและมอบหมายหน่วยงาน (เจ้าภาพ) ในการดำเนินการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
โดยที่ประชุมกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้ากุ้งมังกร 7 สีภูเก็ตโดยผ่านการทำโครงการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์และสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ประจำปีงบประมาณ 2567 ภายใต้โครงการได้มีกิจกรรมส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้ากุ้งมังกร 7 สีของจังหวัดภูเก็ตรวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนเพื่อหาแนวทางแก้ไขและการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนขึ้นทะเบียนเพื่อให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการหน่วยงานภาครัฐที่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์รวมถึงการจัดทำข้อกำหนดมาตรฐาน(Specification)ของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์การให้ความสำคัญของการควบคุมคุณภาพของสินค้าที่เชื่อถือได้และการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องหมายทางการค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
โอกาสนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขอให้หน่วยงานผู้ผลิตและผู้ประกอบการได้ร่วมกันรวบรวมข้อมูลประวัติความเป็นมาและความมีชื่อเสียงของสินค้าหรือกุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ข้อมูลความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์ลักษณะเฉพาะเอกลักษณ์ของสินค้าไม่ว่าจะเป็นรสชาติเนื้อ ผิวสัมผัส และการกำหนดชื่อที่จะขอขึ้นทะเบียนรวมถึงขอบเขตพื้นที่ของภูมิศาสตร์ และสิ่งสำคัญจะต้องมีการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และการจัดทำแผนการควบคุมตรวจสอบคุณภาพของสินค้า
ทั้งนี้หากกุ้งมังกร 7 สีของจังหวัดภูเก็ตได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของ สินค้า กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ให้มีมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกษตรกร มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นการกระจายรายได้และสร้างอาชีพที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมังกร 7 สีในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตต่อไป