วช. เร่งดัน “คุ้งบางกะเจ้า” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เกษตรอินทรีย์วิถีแห่งความสุข
ด้วยเทคโนโลยีจากงานวิจัย ตามนโยบายเศรษฐกิจฐานราก
วันที่ 20 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบางกะเจ้าเกษตรอินทรีย์เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการวิจัย ณ อำเภอ
พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ นำโดย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะทีมผู้บริหาร วช. ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. โครงการวิจัย เรื่อง “โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีเชิงบูรณาการเพื่อยกระดับมาตรฐานและรายได้ของชุมชน” โดยมี ผศ.ดร.อนงค์นุช สาสนรักกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งมี นายธรรมนูญ แจ่มใส นายอำเภอพระประแดงกล่าวรายงานผลผลิตของโครงการฯพร้อมทั้งแนะนำคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานภาคีในพื้นที่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม สังกัดกระทรวง อว. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดําเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีเชิงบูรณาการเพื่อยกระดับมาตรฐานและรายได้ของชุมชน โดยมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาชุมชนที่ยังขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การขาดแคลนปัจจัยการผลิตที่ไม่เพียงพอในชุมชน และยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
โครงการดังกล่าว เป็นการนําองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยมาเพิ่มผลผลิตของเกษตรกร เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า โดยสร้างเครือข่ายชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนเชิงธุรกิจที่ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคม และเป็นการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชอินทรีย์และพืชที่เป็นอัตลักษณ์ประจําถิ่น เช่น พิลังกาสา ละมุดสีดา และมะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นต้น เป็นชุมชนต้นแบบในการขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ วช. ได้มุ่งเน้นให้เกิดการนําผลงานวิจัยมาต่อยอดขยายผลเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งจําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ วช. ที่ดําเนินการในเรื่องของการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมการนำเทคโนโลยีเข้ามาหนุนเสริม ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้และก่อเกิดองค์ความรู้หน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงภาคเอกชน ผู้ประกอบการและภาคประชาสังคม
ในชุมชน ที่ร่วมดําเนินการเพื่อให้เกิดผลสําเร็จ อย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะประโยชน์ที่เกิดกับชุมชน
อันนํามาสู่ความสําเร็จในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนบางกะเจ้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถือเป็นส่วนสําคัญที่จะผลักดันให้เกิดการบรรลุผลสําเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.อนงค์นุช สาสนรักกิจ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า คุ้งบางกะเจ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
และสุขภาพที่ได้รับความนิยมพื้นที่หนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมและการจำหน่ายผลผลิตพืชอินทรีย์ของกลุ่มได้ และที่สำคัญพบว่าพืชที่ปลูกหลายชนิดในคุ้งบางกะเจ้า เป็นพืชที่หายากและเป็นพืชประจำถิ่นที่สามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลผลิตนั้นๆได้ ในลักษณะพืชอัตลักษณ์ตามฤดูกาล โดยเฉพาะเมื่อปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ หรือการแปรรูปแทนการขายเพื่อทานสด ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ละมุดสีดา พิลังกาสา ชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรมสามารถเพิ่มจำนวนเกษตรกร และขยายกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพืชอินทรีย์ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าทั้ง6 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางยอ ตำบลบางกอบัว ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางกะเจ้า และตำบลทรงคะนอง ซึ่งคุ้งบางกะเจ้าเป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาถ่ายทอดให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเชิงธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างเครือข่ายและแนวทางการขับเคลื่อนผลักดันให้คุ้งบางกะเจ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามแบบวิถีเกษตรอินทรีย์ ด้วยการรวมตัวกันขึ้นเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง อันเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตร ยกระดับรายได้ชุมชน ลดปัญหาหนี้สินได้ ตลอดจน สร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้กลุ่มคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ทางคณะทีมผู้บริหาร วช. ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ เยี่ยมชมแปลงอินทรีย์ต้นแบบ ปศุสัตว์อินทรีย์ โรงเพาะเห็ดอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน และปุ๋ยจากเศษอาหาร พร้อมทั้งร่วมเปิดป้ายวิสาหกิจชุมชนบางกะเจ้าเกษตรอินทรีย์ กลุ่มคุ้งบางกะเจ้าพีจีเอสและร่วมกันปลูกต้น ไม้ประจำถิ่น ต้นพิลังกาสา ต้นละมุดสีดา ต้นมะม่วงน้ำดอกไม้ และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน การลงพื้นที่ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในพื้นที่ช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงรวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของประเทศอย่างยั่งยืน