ขอนแก่นปล่อยขบวนรถไฟขนข้าว 40 ตันลอตแรกไปขายในต่างประเทศ มุ่งเน้นการขนส่งระบบราง ในภาวะราคาน้ำมันแพง ขณะที่ภาคเอกชนใช้บริการคึกคัก
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 มิ.ย. 2565 ที่ลานขนถ่ายสินค้า สถานีรถไฟท่าพระ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วยนายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้าจ.ขอนแก่น นำคณะฯร่วมตรวจความพร้อมการเปิดบริการ ลานขนถ่ายสินค้า สถานีรถไฟท่าพระและ ปล่อยตู้สินค้าข้าวอีสานส่งออกผ่านทางรถไฟ รวมจำนวน 40 ตัน หลังจากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายสถานการณ์โควิด รวมทั้งมีการเปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการเดินทาง การซื้อขายใน จ.ขอนแก่น กลับมาคึกคักอีกครั้ง
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า เป็นความคืบหน้าตามโครงการของรัฐบาลที่วางแผนไว้ก่อนช่วงโควิดระบาด ในการให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของระบบการคมนาคมขนส่ง ทำให้จังหวัดเร่งพัฒนาระบบการขนส่งที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการโดย เฉพาะกับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางที่สามารถเชื่อมต่อกับ 7 จังหวัดอีสาน ให้สอดรับกับสภาวะราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายด้านการขนส่งให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่น ซึ่งการเปิดระบบการขนส่งทางรถไฟในครั้งนี้เป็นสายปฐมฤกษ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นชักชวนให้ผู้ประกอบการได้หันมาใช้การขนส่งระบบรางเพิ่มขึ้น
“จังหวัดร่วมมือกับหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสมาคมโลจีสติกส์ ขนส่งสินค้าภาคการเกษตรไปสู่ตลาดโลก ที่มีการปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งมาใช้ระบบราง ช่วยผู้ประกอบการลดรายจ่าย ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญจะทำให้สถานีรถไฟท่าพระ จ.ขอนแก่น เป็นจุดกระจายสินค้า ที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียงไม่น้อยกว่า 7 จังหวัด สามารถมาใช้บริการด้านขนส่งที่สถานีท่าพระ ถือเป็นตัวอย่างโครงการที่ภาครัฐได้วางแผนเอาไว้ ในระยะต่อไปจะมีการเดินหน้าโครงการท่าเรือบก ที่โนนพะยอม เพิ่มการอำนวยความสะดวก ลดต้นทุน ให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการ“
ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ขณะเดียวกันยังได้ประสานสมาคมขนส่งประสานผู้ประกอบการนักลงทุน ปรับเปลี่ยนการขนส่งมาใช้แบบระบบราง ลดการใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่มีค่าใช้จ่ายสูง พร้อมกับปรับเปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกขนาดเล็กมาขนส่งสินค้า ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน ในอัตราที่สูงขึ้น ในส่วนของจังหวัดจะได้ดำเนินการวางแผนการจัดการอย่างเป็นระบบ พร้อมกับเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาแชร์ข้อมูลร่วมกัน ในการรับส่งสินค้าจากต้นทางถึงปลายทาง ที่ท่าเรือแหลมฉบัง การกระจายสินค้า เพื่อให้การขนส่งเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้นทุนราคาถูกลง เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และผู้บริโภค สามารถควบคุมต้นทุนการขนส่ง เป็นหมวดสำคัญด้านการลงทุน เชื่อว่าจะเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ขนส่งของภาคอีสาน
ขณะที่นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีการนำเข้าและส่งออกสินค้าอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการรถไฟนั้นโครงสร้างพื้นฐานมีระบบราง และสถานีขนถ่ายสินค้า ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ทางการรถไฟมีความพร้อมในการรองรับด้านการขนส่งได้ทันที การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาเป็นระบบราง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการได้
“เทรนใหม่ด้านการขนส่งที่ทำให้ระบบรางได้เปรียบ คือการขนส่งด้วยระบบราง สามารถลดมลพิษ โครงการเครดิตคาร์บอน การรถไฟเองกำลังหาผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ ซึ่งผู้ประกอบการที่มาร่วมการขนส่งระบบรางนี้ ผ่านการคัดเลือกจากทางการรถไฟ ล้วนเป็นมืออาชีพด้านการขนส่ง เชื่อมั่นว่าการคิกออฟด้านการขนส่งในครั้งนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการขนส่งที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างแน่นอน”