มข.โชว์ผลงานเด่นนับ 100 รายการ ผลงานวิจัยร่วมอุทยานวิทยาศาสตร์ และ ผู้ประกอบการทั่วภาคอีสาน
ตอบโจทย์ความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคม เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 ธ.ค.2564 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยขอนแก่น นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “NESP Showcase 2021” ภายใต้หัวข้อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งกระทรวง อว. ร่วม กับ มข.ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยมีการนำเสนอผลงายวิจัยและผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโครงการร่วมระหว่าง อว.,มข.และผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคอีสาน โดยมีนักวิชาการ นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจในงานด้านการวิจัยและผลิตภัณฑ์ต่างๆร่วมชมผลงายวิจัยดังกล่าวอย่างคึกคัก
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.กล่าวว่า การนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นไปตามความร่วมมือและการสนับสนุนจากกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กปว. กระทรวง อว.ในการที่จะกระจายโอกาสและการพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ โดยจากผลการดำเนินงานดังกล่าว ได้เกิดนักธุรกิจนวัตกรรม จำนวน 171 คน,นวัตกร 78 คน และบุคลากรภาคอุตสาหกรรม 293 คน ตามแผนการพัฒนาคน ในขณะที่การดำเนินงานดังกล่าวได้เกิดผลลัพธ์ที่ได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่คือเกิดธุรกิจนวัตกรรมจำนวนทั้งสิ้น 71 ราย มีการยกระดับเทคโนโลยีชุมชนและอุตสาหกรรมจำนวน172 ราย และทีสำคัญคือเกิดผลลัพธ์ในด้านของการพัฒนาความร่วมมือของเครือข่าย ในรูปแบบแผนนโยบายการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ในกลุ่ม จังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์,กลุ่มจังหวัดสนุกและกลั่มจังหวัดสบายดี จำนวนทั้งสิ้น 36 แผนนโยบาย โดยผลของความสำเร็จดังกล่าวได้ถูกนำมาจัดแสดงแล้วในงานวันนี้
“งานดังกล่าว ได้จัดให้มีการบรรยายและเสวนาในหัวข้อยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน กับ NESP New platform,การอัพเกรดอาหารธรรมดาสู่นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต,การยกระดับงานวิจัย ทำอย่างไรให้สุดปัง,เคล็ดลับความสำเร็จ จากอายุน้อยสู่ร้อยล้าน, และการแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสรืมและสนับสนุนจากโครงการดังกล่าวในภาพรวม“
อธิการบดี มข.กล่าวต่ออีกว่า การถ่ายทอดและเชื่อมโยงองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยไปสู่ชุมชนโดยบูรณาการความร่วมมือทั้งภารรัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชนท้องถิ่น เป็นการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกลไกการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย มข.ทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย และความร่วมมือของทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี,และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกระดับ ที่เป็นการให้ความรู้และสนับสนุนการดำเนินการตั้งแต่เริ่มคิด หรือเป็นผู้ประกอบการเดิมอยู่แลัว ที่ทั้งหมดสามารถมารับคำปรึกษาและเข้ารับการประเมินธุรกิจ จนนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้และการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาผู้ประกอบการทั้งกลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่ กลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มผู้ประกอบการเดิมที่ต้องการต่อยอดในด้านต่างๆ ซึ่ง กระทรวง อว.และ มข.จะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าวโดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในภูมิภาคแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่องต่อไป