ตัวแทนนิสิต-นักศึกษา 12 สถาบัน ยื่นเรื่องต่อ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) – (1)
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 พันตำรวจเอกทวี สอดส่องเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ห้องข่าวรัฐสภา แชนแนล” ช่วง “ประเด็นเป็นข่าว” ทางโทรทัศน์รัฐสภาช่อง 10 ถึงกรณีที่ตัวแทนนิสิต–นักศึกษา 12 สถาบัน เดินทางมาที่อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เรียกร้องให้พิจารณาหลักๆ มีอยู่ 2 หัวข้อใหญ่ๆ ก็คือ
ประเด็นแรก กรณีคณะกรรมการ กยศ. ไปออกประกาศของ กยศ.ในเรื่องคุณสมบัติเฉพาะของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมกองทุน ทุกลักษณะทั้งกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก สาขาวิชาขาดแคลน และกลุ่มเรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ กยศ มีหลักเกณฑ์อยู่ข้อหนึ่งว่า “เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ” ทั้งนักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมรายใหม่ ผู้กู้ยืมรายเก่าที่เปลี่ยนระดับการศึกษา และผู้กู้ยืมรายเก่าที่เลื่อนชั้นทุกปีระดับการศึกษา สำหรับกรณีผู้กู้ยืมรายเก่าที่จะเลื่อนชั้นทุกปีของระดับการศึกษา จะกำหนดจำนวนให้ทำประโยชน์ต่อสังคม 36 ชั่วโมง ซึ่งประเด็นนี้ตัวแทนนักศึกษาเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และคุณภาพครอบครัวชีวิตผู้กู้ปัจจุบันที่ยากลำบาก ระบบการเรียนยังเปลี่ยนไปใช้ออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานช่วยเหลือครอบครัวที่ยากลำบาก ผู้กู้ยืม กยศ. เป็นกลุ่มมีฐานะยากไร้ ก็เลยเรียกร้องข้อให้ไปปรับปรุง
ประเด็นที่สอง ตัวแทนนักศึกษาขอให้คณะกรรมการ กยศ.มีตัวแทนนักเรียน นักศึกษา ที่เลือกตั้งตัวแทนเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการ กยศ. มีทั้งหมด 12 คน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และผู้จัดการ กยศ. ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งจากรัฐ ทางนักศึกษาอยากให้มีตัวแทนที่มาจากระบบการเลือกตั้งบ้าง เช่นประธานสภาการศึกษา นายกองค์กรนักศึกษาที่มีกระบวนการเลือกตั้งร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อการมีส่วนร่วม
สำหรับประเด็นแรก เรื่องคุณสมบัติผู้กู้ยืม กฏหมายให้อำนาจคณะกรรมการฯไปกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน ตามมาตรา 39 ตรงนี้ไม่มีอยู่ในกฎหมาย แต่คณะกรรมการไปออกหลักเกณฑ์ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการศึกษาไม่ใช่ออกกฏเกณฑ์เป็นอำนาจนิยมและเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา กมธ.วิสามัญฯ เพิ่งพิจารณามาตรา 39 ได้แก้ไขเพื่อให้กองทุนสามารสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาได้มากยิ่งขึ้น เดิมมีการล็อกคุณสมบัติผู้กู้ได้ก็คือ “สัญชาติไทย” ซึ่ง กมธ. ก็เห็นด้วยกับคุณสมบัติสัญชาติไทย แต่เรายังพบว่ามีบุคคลจำนวนมากที่เป็นคนไทยที่รอสถานะทางสัญชาติที่รัฐบาลอยู่ในกระบวนการอยู่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง หรือคนที่เกิดในประเทศไทยแล้วอยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ คนกลุ่มนี้พอไปรอให้ราชการพิสูจน์สัญชาติ มันก็ช้ามากราชการมักอ้างงบประมาณและกำลังพลไม่มีพอทำงาน กว่าจะชี้ขาด บางทีอายุก็เลยวัยเรียนไปแล้วที่คนเหล่านี้ก็เป็นพลเมืองไทย เราก็อยากจะเปิดกว้างให้สามารถเข้ามากู้ยืมได้ จึงมีการแก้ไข
ส่วนเรื่อง เงื่อนไขเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ หรือจิตอาสา ทุกคนที่เป็นผู้กู้ยืมและกรณีผู้กู้ยืมเก่าเลื่อนชั้นปีไปกำหนดอย่างน้อยต้อง 36 ชั่วโมง เป็นไปตามประกาศของ กยศ. เป็นเรื่องระเบียบภายใน แต่เป็นไปตามเจตนารมณ์กฏหมายหรือไม่ การศึกษาเป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรองรับต้องเป็นไปตามความถนัดของผู้เรียน ส่วนตัวอาจเสนอให้ที่ประชุมมีมติเชิญปลัดกระทรวงการคลัง ที่เป็นประธานกรรการ กยศ. ผู้ลงนามในประกาศ กยศ. มาให้เหตุผล ตอบซักถาม แม้เป็นระเบียบที่ต้องไม่ขัดเจตนารมณ์ของกฏหมาย ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติเรื่อง การศึกษาต้องเป็นเสรีภาพตามศักยภาพของผู้เรียน การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องไปส่งเสริม แต่ประกาศนี้มีลักษณะเป็นอำนาจนิยมเกินไปหรือไม่ ต้องสอบถามเพราะเป็นประกาศคณะกรรมการที่ออกโดยปลัดกระทรวงการคลัง และออกมาถึง 4 ฉบับ เมื่อเดือน ม.ค.64 จึงต้องถามเหตุผลเราอยากจะให้กฎหมาย กยศ.เป็นกฎหมายที่เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย