จับตา “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” สัมปทานรถไฟ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ เอื้อนายทุนผูกขาด (6) *โดย ‘พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง’ เลขาธิการพรรคประชาชาติ*
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการนี้ประมาณ 145,554 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 64.82 และยังมีทรัพย์สินอื่นอีก ที่ยังไม่ได้นำมาคิดรวม ที่เป็น“สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” เป็นสัมปทานผูกขาด โดยเฉพาะที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ เป็นที่ดินการรถไฟที่ได้รับพระราชทานจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ทรงออก พ.ร.บ. “เลิกทาส ร.ศ. 124” เอกชนคู่สัญญาได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่เป็นเวลา 50 ปี การรถไฟฯ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นเงินประมาณ 51,000 ล้านบาท คิดเป็นค่าเช่าพื้นที่ 150 ไร่ 50 ปี (ยังมีสิทธิ์เช่าต่ออีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปีได้) ประมาณปีละ 1,020 ล้านบาท ที่ราคาค่าเช่าที่ดินต่ำกว่าความเป็นจริงมากเมื่อเปรียบเทียบกับที่ดินย่าน เซ็นทรัล ลาดพร้าว การรถไฟฯได้ค่าเช่าที่ดิน 48 ไร่ สัญญาเช่า 20 ปี เป็นเงินประมาณ 21,000 ล้านบาท ดังนั้นถ้าใช้อัตราค่าเช่าที่เท่ากับเซ็นทรัล ลาดพร้าว เช่า ราคาที่ดินมักกะสันควรมีผลประโยชน์ตอบแทน ประมาณ 164,062 ล้านบาทเศษ